นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. … ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ทราบดีว่าร่างพ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. … มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบินของประเทศ โดยเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ไทยจะนำไปสู่การปลดล็อกธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอโคโอ)

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกายังทราบถึงกรอบเวลาที่ไอเคโอจะเดินทางเข้ามาตรวจตรวจสอบมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (UNIVERSAL SECURITY AUDIT PROGRAMME-USAP) ในเดือนก.ค. แล้วว่าเป็นงานในเชิงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณากฎหมายเป็นการเฉพาะ

“คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าจะพยายามพิจารณากฎหมายให้แลเวเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2560 นี้ จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ทันภายในเดือน ก.ค. 2560 ซึ่งไอเคโอจะเข้ามาตรวจไทย”

นายจุฬากล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามองว่าการยกเลิก พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 ตามที่ กพท. เสนอ จะมีผลต่อกฎหมายลูกที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอีกมาก ใช้เวลานาน จะส่งผลให้กระบวนการเข้าสู่ สนช. ล่าช้าตามไปด้วย ดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเสนอว่า แทนที่จะยกเลิกกฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ก็ให้นำเรื่องจำเป็นที่ไอเคโอต้องการไปเพิ่มไว้ในกฎหมายฉบับปัจจุบันแทน จึงทำให้ต้องไปพิจารณาตัดทอนรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. … ซึ่งมีประมาณ 300 กว่ามาตราออก แต่จะปรับเหลือเท่าไหร่นั้น และออกมาในรูปแบบใดยังตอบไม่ได้ อยู่ระหว่างการพิจารณา ต้องประชุมร่วมกันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าต้องเป็นกฎหมายใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเดิม

นายจุฬา กล่าวต่อว่า แม้ว่าในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ กพท.จะยื่นเรื่องให้ไอเคโอเข้ามาตรวจสอบซ้ำ แต่ร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ…. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. เพื่อออกเป็นกฎหมาย ตนคิดว่าไอเคโอคงเข้าใจ เพราะงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีใครสามารถไปควบคุมได้ แต่เชื่อว่าหากสามารถนำร่างกฎหมายเข้าสู่ สนช. วาระที่ 1 ได้แล้วก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ เงื่อนในการขอให้ไอเคโอเข้ามาตรวจสอบซ้ำเพื่อปลดธงแดง มี 2 ส่วนคือ การแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน (เอสเอสซี) 33 ข้อตามคำแนะนำของไอเคโอสำเร็จ และการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ซึ่งในส่วนของการแก้ไขเอสเอสซีนั้น บางข้อ กพท.ได้ระบุว่าจะแก้ไขกฎหมาย ซึ่งการแก้ไขในส่วนนี้ให้สำเร็จนั้น โดยทั่วไปไอเคโอจะมองว่าหากฝ่ายบริหารดำเนินการแล้วเสร็จก็ถือว่าสำเร็จ เพราะหน้าที่ในการออกกฎหมายคือ สนช. ไม่ใช่ ครม. หรือ กพท.

“ยอมรับว่าการออกกฎหมายมีผลต่อการปลดล็อกธงแดง เพราะสาเหตุที่ไทยโดนธงแดงก็เพราะไทยไม่มีกฎหมาย ดังนั้นหากเราชี้แจงไอเคโอว่าเราฝ่ายบริหารได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของ สนช. ก็คิดว่าไอเคโอจะเข้าใจ โดยผมจะเสนอร่างกฎหมายให้ไอเคโอได้พิจารณาด้วย เพื่อเป็นหลักฐานว่า กพท. ได้ดำเนินการทำกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพียงแต่จะใช้แก้ไขเอสเอสซี 33 ข้อเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการแก้ไขทั้ง 572 ข้อด้วย” นายจุฬา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน