นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและการกีฬา เปิดเผยในเวทีการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกประจำปี 2560 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นเจ้าภาพ ว่า อาเซียนมียุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอยู่ 2 ด้านๆ หนึ่งคือ กลุ่มการท่องเที่ยวทางไกล (Long haul) เน้นตลาดที่อยู่ไกลออกไป เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง โดยจัดแพ็กเกจการท่องเที่ยวที่มีสถานที่ปลายทาง 2-3 ประเทศ และอีกกลุ่มหนึ่งคือการท่องเที่ยวภายในอาเซียน (Intra-ASEAN) ซึ่งจะเน้นการโปรโมตการเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (wellness) การรักษาพยาบาล และการศึกษา

สำหรับการเดินทางทางอากาศในภูมิภาค สายการบินแบบประหยัดมีบทบาทสูงมากในการส่งเสริมการเดินทางในภูมิภาค ยกตัวอย่างในภูมิภาคอินโด (CLMV) ปัจจุบันมีเที่ยวบินที่เริ่มต้นในไทยกว่า 600 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยมีบินไปเมียนมาร์ถึง 299 เที่ยวบิน เวียดนาม 190 กัมพูชา 108 และลาวอีก 61 ส่วนการเดินทางบกก็เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากการพัฒนาทางหลักเชื่อมต่อระหว่างทิศตะวันออกกับตะวันตก และระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ของไทย โดยไม่เพียงแต่จะเป็นถนนทางหลวงสำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถโดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถไฟ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง เช่น จากเวียดนามและกัมพูชาก็สามารถไปเมียนมาร์โดยผ่านไทย จากจีนและลาวก็สามารถลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้ด้วยการผ่านไทยเช่นกัน

ประเทศไทยต้องมุ่งมั่นรักษาความเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไขคือ การเดินทางทางน้ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมกับศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะทางทะเล ซึ่งในขณะนี้หลายๆ ฝ่ายรวมถึงกระทรวงท่องเที่ยวของไทยก็กำลังวางแผนร่วมกับภาคเอกชนและกระทรวงท่องเที่ยวของประเทศอาเซียน เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นทะเลแคริบเบียนแห่งอาเซียนสำหรับเรือสำราญ เรือยอร์ช และเรือซูเปอร์ยอชต์

ขณะเดียวกันยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่ศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงนั่นคือแม่น้ำโขง ที่ไหลจากจีน ผ่านถึง 5 ประเทศในอินโดจีน คือ เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียตนาม ซึ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

อีกทั้งยังต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด เพื่อผลักดันให้เกิดซิงเกิ้ลวีซ่า (single visa) อย่างที่ยุโรปมีเชงเก้นวีซ่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวนักเดินทางเข้ามาในประเทศในภูมิภาคได้สะดวกง่ายดายขึ้น ทั้งนี้ทุกประเทศมีความปรารถนาเดียวกันแต่เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมายในทั้ง 10 ประเทศ จึงทำให้ดำเนินการไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

ด้านนายโทนี่ เฟอร์นันเดส ซีอีโอ กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า ต้องการผลักดัน 2 เรื่องที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเดินทางและท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน และการเดินทางเชื่อมโยงกับเอเชีย โดยอยากให้ยกเลิกเพดานการถือหุ้นสายการบิน 49% หรือให้ถือหุ้นได้ 100% ช่วยให้สามารถใช้เงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และอีกเรื่องคือ อาเซียนซิงเกิ้ลวีซ่า จะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางได้ในหลายประเทศ จะช่วยให้อาเซียนมีความนิยมมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างรายได้และการจ้างงานได้มาก

ทางด้านนายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวว่า ไอเคโอ (ICAO) กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกประเทศในอาเซียนโดยหวังที่จะเห็นทุกรัฐบาลสามารถปรับกฎระเบียบการบินให้สอดคล้องผสานกัน และเปิดเสรีการจ้างงานเพื่อให้เสริมความเข้มแข็งความสามารถในการแข่งขันให้กับสายการบินภูมิภาคซึ่งต้องแข่งกับสายการบินสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน