ส่อง‘ค้าปลีก’2020-ยังระแวงพิษศก. เบรกขยายสาขา-เน้นปรับรูปแบบใหม่

รายงานพิเศษ

ส่อง‘ค้าปลีก’2020-ยังระแวงพิษศก. เบรกขยายสาขา-เน้นปรับรูปแบบใหม่ – เปิดศักราชใหม่ของ ‘การค้าปลีกไทย’ ด้วยความท้าทายที่ ไม่เหมือนเดิม

แม้ยังต้องเผชิญกับท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว และอาจจะถึงขั้นลดลงไปกว่าที่ผ่านมา แต่ต้องเร่งปรับตัวเพิ่มกับการดิสรัปชั่นจากที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคยุค 2020 มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการประมาณการยอดขายค้าปลีกปี 2563 จะลดลงเหลือ 2.6-3% จากปี 2562 เติบโต 3.1% นับเป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี

มาเปิดแผนผู้ประกอบการแต่ละรายตั้งรับกับปี 2563 กันอย่างไร

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น โดย‘วัลยา จิราธิวัฒน์’รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปี 2563 ไม่มีแผนเปิดศูนย์การค้าใหม่ แต่กำลังทำงานอยู่หลายโครงการที่เน้นการปรับปรุง และขยายพื้นที่เพิ่มในศูนย์การค้าเดิมที่มีอยู่ ส่วนการลงทุนศูนย์การค้าแห่งใหม่จะเป็นในปี 2564 โดยเรายังมองการลงทุนจะมีสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว

ปรีชา เอกคุณากูล

‘ปรีชา เอกคุณากูล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ความท้าทายในปี 2563 คือ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เป็น 2 เรื่องที่ยากที่สุดแล้ว ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่

และอีกหนึ่งความท้าทาย คือภาวะเศรษฐกิจ ในปีที่แล้วเจอปัจจัยลบเยอะ และปีนี้ก็ยังไม่เห็นปัจจัยลบที่จะทำให้แย่ไปกว่าเดิม แต่ขึ้นอยู่แรงกระตุ้นของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้น

 

‘ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า แม้ไม่มีแผนเปิดสาขาใหม่แต่มีแผนปรับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลครั้งใหญ่ใน 20 สาขาที่มีอยู่ภายใน 3-5 ปี ให้เป็นโฉมใหม่ในรูปแบบห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500-1,000 ล้านบาทต่อสาขา รวมประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เริ่มจากปี 2563 จะปรับ 3 สาขา คือ ชิดลม ลาดพร้าว และพระราม 2 ซึ่งคาดว่าจะสร้างยอดขายโตขึ้นอีก 20% ในอนาคต

ห้างเซ็นทรัลจะให้ความสำคัญทั้งสองช่องทาง การซื้อในห้าง และออนไลน์ เชื่อมต่อกันในรูปแบบ‘ออมนิชาแนล’ และการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์

กลุ่ม‘เดอะมอลล์’ ไร้แผนลงทุนในโครงการใหม่ๆ เช่นกัน โดย ‘วรลักษณ์ ตุลาภรณ์’ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เผยว่า ในปี 2563 จะเน้นการจัดกิจกรรมการตลาด และเป็นกิจกรรมการตลาดที่มีอินโนเวชั่น เพื่อดึงกลุ่มคนใหม่ๆ ให้เข้ามาในห้างและศูนย์การค้า

กลยุทธ์ทางการตลาดของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในปี 2563 เน้นการสร้างห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าให้เป็นสถานที่ ที่ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าอย่างครบครัน

ด้วยหลากหลายกลยุทธ์ โดยหนึ่งในนั้นยังคงเป็นเรื่อง ‘ดิจิทัลไล เซชั่น’ (Digitalization) ใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลในการทำการตลาดแบบครบวงจร ทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ เพื่อเข้าถึงความต้องการของฐานลูกค้าหลักของเรา คือลูกค้า ‘เอ็มการ์ด’ (M Card) กว่า 4 ล้านราย และลูกค้า ‘เอสซีบี เอ็ม วีซ่า’ (SCB M VISA) กว่า 6 แสนคน ได้อย่างใกล้ชิด

เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในการทำแคมเปญต่างๆ โดยต้องดูข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราได้ใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความถูกต้องแม่นยำ

นอกจากนี้เดอะมอลล์ ยังมีแผนนำกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในห้างขยายออกมา อย่าง ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ กูร์เมต์ มาร์เก็ต โดยในช่วง 3-5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 จะเปิดให้ได้ปีละ 5 สาขา วางงบลงทุนไว้ 300-400 ล้านบาท

และมีแผนนำธุรกิจเครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์ บิวตี้ ฮอลล์ ออกมานอกห้างเป็นครั้งแรก อยู่ระหว่างดำเนินการ จะเริ่มสาขาทดลองก่อนเพื่อชดเชยไม่มีแผนการขยายสาขาใหม่

ในส่วนของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็น กลุ่มที่เสี่ยงในการขยายตัวอย่างจำกัด

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล

‘บิ๊กซี’ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีสั่งเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดย ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า ปี 2563 มีแผนเปิดสาขาบิ๊กซี ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่องใช้งบลงทุนประมาณ 8,000- 10,000 ล้านบาท มุ่งเน้นขยายสาขาในต่างประเทศเป็นหลัก

วางแผนการเปิดสาขาในเวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นรูปแบบมินิบิ๊กซี 60 สาขา และไฮเปอร์มาร์เก็ตอีก 1 สาขา ขณะที่การขยายสาขาภายในประเทศบริษัทจะขยายขนาดกลาง-เล็กมากขึ้น แบ่งเป็น บิ๊กซี มาร์เก็ต 2 สาขา และมินิ บิ๊กซี 300 – 400 สาขา

ส่วนรูปแบบสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตจะขยายเพิ่ม 3-4 สาขา พร้อมมีแผนย่อขนาดบิ๊กซีให้มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ประจำให้กับบริษัทในอนาคต

“เรามีแผนที่จะขยายสาขาบิ๊กซีให้ครบในประเทศเพื่อนบ้าน ซีแอลเอ็มวี ปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปจัดตั้งสำนักงานออฟฟิศกลางในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในซีแอลเอ็มวี เพื่อนำสินค้าในไทยเข้าไปทำการตลาดคาดว่าจะสามารถทำการเปิดสาขาบิ๊กซีได้ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ปี 2563 บริษัทมีแผนพัฒนาห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ภายในประเทศ ในย่านทำเลใจกลางเมือง ซึ่งมีที่ดินรองรับไว้แล้ว เบื้องต้นจะมีสัดส่วนพื้นที่เช่าให้เพิ่มมากขึ้น”

ฝั่ง ‘เทสโก้ โลตัส’ ตลอดปี 2562ที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์คลุมเครือ เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่า กลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษ ทบทวนแผนธุรกิจในเอเชียที่จะขายธุรกิจในไทยและมาเลเซีย

ล่าสุดวันที่ 8 ธ.ค. 2562 กลุ่มเทสโก้ (Tesco PLC) ออกเเถลงการณ์ ตอกย้ำข่าวลือว่าตามที่มีผู้สนใจในธุรกิจของเทสโก้ในเอเชีย กลุ่มเทสโก้ จึงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ สำหรับธุรกิจในประเทศไทยเเละมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจทั้งสองนี้

อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ ยังอยู่ในระยะเบื้องต้น เเละยังไม่ตัดสินใจใดๆ สำหรับอนาคตของธุรกิจของเทสโก้ในประเทศไทยเเละมาเลเซีย รวมทั้งไม่ยืนยันว่าจะมีการซื้อขายเกิดขึ้นในที่สุด ทั้งนี้ จะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย

‘สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย’ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า กลุ่มเทสโก้มุ่งมั่นลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดรองจากสหราชอาณาจักร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

ในปี 2562 ปรับสาขาเทสโก้ โลตัส ในรูปแบบร้านเอ็กซ์เพรสใหม่ ที่มีอยู่ 1,600 สาขา ให้เป็นไปในรูปแบบใหม่ คือ สด ง่าย และตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน เน้นจำหน่ายสินค้าการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น อาหารพร้อมรับประทาน มุมจำหน่ายกาแฟสด และเพิ่มอาหารสด

มีแผนเพิ่มอีก 750 สาขาภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือขยายปีละ 250 สาขาต่อปี จากเดิมเอ็กซ์เพรส จะเปิดปีละ 50 สาขาต่อปี ดังนั้นจากนี้การขยายตัวของเอ็กซ์เพรสจะเพิ่มเป็น 5 เท่าตัวจากปกติภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ห้างหรู อย่างกลุ่มสยาม พิวรรธน์ ผู้บริหารสยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม ตามแผนจะเปิดโครงการใหม่ “สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต” ซึ่งเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลลักชัวรี่ เอาท์เล็ตแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งร้านอาหาร และแหล่งรวมช็อปปิ้ง กินดื่มและบันเทิง มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท

ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ดำเนินการโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป และกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ซึ่งล่าสุดมีความเป็นไปได้จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563

แผนทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความกังวลของผู้ประกอบการค้าปลีก ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในระยะข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน