ปีนี้ไทยแล้งจัดเสี่ยงวิกฤตระดับ 3 อาจยกระดับใช้กฎหมายคุมพวกลักลอบสูบน้ำถึงขั้นติดคุก – ชี้ลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวแล้ว 3 ล้านไร่

ไทยแล้งจัดเสี่ยงวิกฤตระดับ 3 – เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ม.ค. ณ ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำเข้าร่วมและรับฟังนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ซึ่งได้เห็นชอบกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

เพื่ออำนวยการ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ในการควบคุมวิกฤตน้ำในภาวะรุนแรง หรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ
2) โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้อยู่ในวงจำกัด ให้หน่วยงานด้านปฏิบัติในพื้นที่สามารถทำการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น มาปฏิบัติงานร่วมกัน โดยใช้ห้องประชุมชั้น 4 อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ข้าวลุ่มเจ้าพระยา ที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศไม่มีน้ำสนับสนุนการทำนา ขณะนี้ปลูกแล้ว 3 ล้านไร่ หากสนับสนุนน้ำต้องใช้น้ำประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม. หากมีความต้องการจริงกรมชลประทานก็สามารถจัดสรรให้ได้แต่ต้องดึงน้ำที่จะใช้เดือนก.ค. ใช้ไปก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการอุปโภคและบริโภคในช่วงต้นฤดูฝน หากทุกฝ่ายยอมรับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกรมชลประทานก็พร้อมดำเนินการ

ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4,000 ล้านลบ.ม. เมื่อสิ้นเดือนเม.ย. จะต้องเหลือน้ำ 2,000 ล้านลบ.ม. เพื่อสำรองไว้ช่วงต้นฤดูฝน กรณีการนำน้ำเพื่อไล่ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องผันจากแม่กลองเข้ามาช่วย แต่ยังพบว่ามีน้ำหายไประหว่างทาง กว่า 50% แม้ว่าจะประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ แล้ว ปัญหานี้หากเกิดวิกฤตที่รุนแรง นายกรัฐมนตรีสั่งมาตรการแก้ไข เพราะน้ำที่ไม่เพียงพอจะเกิดผลกระทบหลายๆ ด้านตามมา

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดใน 60 ปี เป็นอันดับ 2 รองจากปี 2522 แม้ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในช่วงต้นฤดูแล้ง จะใกล้เคียงกับปี 2558 คือ 5,100 ล้านลบ.ม. แต่ความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่สูญหายมีมากกว่า และภัยแล้งจะหนักมากในเขตภาคกลางที่ไม่มีน้ำอยู่เลย

ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมืออย่างจริงจังให้ใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัด ที่เป็นห่วงคือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และระบบนิเวศ เป็นหลัก ส่วนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง แต่ต้องสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนด้วย เพราะปีนี้ ฝนจะมาช้า ทำให้การทำนาปี 2563/64 ต้องล่าช้าออกไป การทำนาในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และ 12 ทุ่งในเขตภาคกลาง เพื่อหนีช่วงน้ำหลากก็ไม่สามารถทำได้ในปีนี้ การทำนาปี จะอาศัยน้ำฝนได้อย่างเดียวเท่านั้น

ขณะนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังทำหน้าที่ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ในการควบคุมวิกฤตน้ำในภาวะรุนแรงในระดับ 2 และการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ หากมีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤตระดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องนั่งบัญชาการ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งจะทำงานภายใต้พ.ร.บ.น้ำเต็มรูปแบบ หากพบลักลอบสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรเกินความจำเป็น ออกประกาศตามมาตรา 88 หรือคำสั่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตร 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 หากเกิดกรณีวิกฤตตามลำดับ ซึ่งอาจมีโทษสูงถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไป

“ไทยแล้งจัดมีปริมาณฝนน้อยสุด คือ ปี 2522 หรือ 41 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝน 1,332 ม.ม. จากนั้นในปี 2535 หรือ 28 ปีที่แล้ว มีปริมาณฝน 1,357 ม.ม. เมื่อมาดูในปี 2563 คาดว่าจะมีฝน 1,342 มม. จึงต้องเตรียมรับมืออย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านช่วงแล้งปีนี้ไปให้ได้ก่อนที่จะมีฝนตก สถานการณ์น้ำในขณะนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีปัญหา จะมีปัญหามากในลุ่มเจ้าพระยาหรือภาคกลาง หากวิกฤตมากขึ้นอาจจะมีการบังคับใช้กฏหมาย สามารถใช้บทลงโทษตามมาตรา 88 ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ได้บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ไว้ล่วงหน้าในการจัดเตรียมแหล่งน้ำสนับสนุนในพื้นที่เสี่ยงจะขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค สถานพยาบาล และน้ำเพื่อสนับสนุนพืชเศรษฐกิจ โดยปรับแผนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานในปีงบประมาณ 2563 ที่จัดลำดับความสำคัญของโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การซ่อมแซมระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เป็นต้น รวมถึงให้มีการเร่งรัดดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมระบบน้ำ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ แก้มลิง ในกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 วงเงิน 9,465 ล้านบาท ควบคู่กันด้วย เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำได้ทันในฤดูฝนปี 2563 ด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน