ท่องเที่ยวหืดจับสารพัดปัจจัยลบเศรษฐกิจไทย-ศก.โลก-บาทแข็ง – ขณะที่คู่แข่ง “ญี่ปุ่น-มัสดีฟ-เวียดนาม” ตัดราคา ‘ยุทธศักดิ์’ เรียกประชุมด่วนทบทวนเป้าหมายเจาะต่างชาติ

ท่องเที่ยวหืดจับสารพัดปัจจัยลบ – นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เรียกสำนักงานท่องเที่ยวทั่วโลกประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ของ ททท. ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เพื่อทบทวนแผนการตลาดเจาะนักท่องเที่ยวทุกประเทศ หลังสถานการณ์โลกเปลี่ยน มีปัจจัยลบเข้ามาหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางการเมือง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน อัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลให้การเที่ยวเมืองไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง การแข่งขันสูง มีผลทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือหวือหวาเหมือนในอดีต หรือเรียกว่า การท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่ภาวะนิวนอร์มอล (New Normal) หรือเติบโตได้น้อย

ขณะที่คู่แข่งอย่างมัลดีฟส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งมีภาพลักษณ์สินค้าท่องเที่ยวราคาแพง ยังทำกลยุทธ์แข่งขันในด้านราคา ลดราคาเพื่อชิงนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปแข่งกับไทย ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยค่อนข้างเหนื่อย โดยเวียดนามจึงกลายเป็นจุดหมายที่มาแรง เพราะราคาแพ็กเกจท่องเที่ยวถูกกว่าไทยราว 20-30% ดึงตลาดรัสเซียไปเยือนได้จำนวนมาก เพราะมีหาดทรายชายทะเลที่ชาวรัสเซียชื่นชอบเช่นเดียวกับไทย

การท่องเที่ยวไทยยังติดอยู่ในภาพลักษณ์เรื่องคุ้มค่าเงิน (Value for Money) หรือภาพจำเดิมๆ ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ว่าเที่ยวเมืองไทยต้องถูก แม้จะมีการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวดีขึ้น อยากปรับราคาขายสูงขึ้น แต่ก็ยังทำได้ยาก แถมเงินบาทยังแข็งค่า ทำให้นักท่องเที่ยวใช้เงินเพิ่มขึ้นในการเดินทางมาไทย

สำหรับ ปัจจัยสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ที่ในบางตลาดอย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เงินโครนสวีเดนอ่อนค่า จากอัตราแลกเปลี่ยนเคยอยู่ที่ 1 โครนฯต่อ 5 บาท อ่อนค่าเหลือประมาณ 3.2 บาทในปัจจุบัน หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำสถิติหลุดถึงระดับ 3.05 บาทต่อ 1 โครน อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปีเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี และยังได้รับผลกระทบจากการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ดังนั้น ตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา จึงนัดประชุมร่วมกับผู้อำนวยการทุกสำนักงาน ที่ประเทศเยอรมนี วันที่ 19 ม.ค.นี้ เพื่อปรับตัวด้านวิธีการทำตลาดหลายๆ ส่วน รับมือกับปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

“เศรษฐกิจยุโรปกำลังแย่ลงในหลายๆ เซ็กเตอร์ อย่างอังกฤษที่มุ่งสู่เบร็กซิต หรือถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ททท. ยังต้องจับตาว่าความมั่นใจในการใช้จ่ายของชาวอังกฤษจะกลับมาหรือไม่ หลังจากตลอดปีที่ผ่านมา ภาพรวมการเดินทางไปต่างประเทศยังจุดหมายระยะไกล (Long Haul) ของชาวอังกฤษติดลบ 2.5% ส่วนไทยยังถือว่าดี เพราะติดลบเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากคู่แข่งตลาดระยะสั้น เช่น ตุรกี กรีซ และอิตาลี ต่างแข่งดึงนักท่องเที่ยวด้วยราคา”

นางศรีสุดา กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางอย่างไม่น่าเชื่อ คือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ฤดูร้อนในยุโรปยาวนานขึ้น จากปกติมีแค่ 3 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. นักท่องเที่ยวยุโรปจึงนำเงินไปใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนภายในภูมิภาคมากขึ้น เหลือเงินมาเที่ยวไทยช่วงฤดูหนาวน้อยลง

กลยุทธ์ปี 2563 ของ ททท. จึงต้องเร่งเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเมืองใหม่ๆ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง พบว่ามี 7-8 เมืองรองที่เริ่มติดตลาดในยุโรป เช่น น่าน เชียงราย แพร่ และสตูล รวมถึงการเจาะพื้นที่ศักยภาพเมืองรองในแต่ละประเทศ อย่างล่าสุดบริษัททัวร์รายใหญ่ของรัสเซีย “ปีกัส ทัวริสติก” ได้เพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำลงสนามบินสุราษฎร์ธานี จาก 3 เที่ยวบินเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บินตรงจากมอสโควและอีก 3 เมืองรองของรัสเซีย พร้อมขยายเวลาจากเดือนธ.ค. 2562 – ต.ค. 2563 จากเดิมจะสิ้นสุดกำหนดบิน เม.ย.นี้ รวม 90 เที่ยวบิน คิดเป็นเกือบ 40,000 ที่นั่ง

พร้อมหาลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน อาทิ ตลาดข้าราชการในรัสเซีย ที่ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. 2562 ที่ผ่านมา รัสเซียเพิ่งปลดล็อกกฎหมายห้ามข้าราชการทั้งหมดไปต่างประเทศ, ตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทั้งชาวรัสเซีย และตะวันออกกลาง หลังผลวิจัยชี้ว่าชาวตะวันออกกลางมีพฤติกรรมไม่ค่อยดูแลสุขภาพ และเสียชีวิตค่อนข้างเร็วจากปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเตรียมรุกเจาะตลาดนักท่องเที่ยวอาหรับรุ่นใหม่ (New Arab) ซึ่งมีทัศนคติเปิดกว้าง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หลังเกิดเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ตก จนมีผู้เสียชีวิตยกลำ ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบิน (Flight Scare) นอกจากนี้ ยังทำให้หลายๆ สายการบินต้องปรับแผนเส้นทางบิน บินไกลขึ้น ส่งผลให้ราคาตั๋วบินแพงขึ้นในสถานการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกที่รุนแรงอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน