อดีต รมว.คลัง ชี้ เงินบาทแข็งมากเกิน จี้ ทบทวนนโยบาย เปลี่ยนผู้ว่าแบงก์ชาติ

ศ.ดร.สุชาติ​ ธาดาธำรงเวช อดีต​ร​มว.คลัง​ อดีต รมว.ศึกษา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นค่าเงินบาท ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่อง โดย มีการวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าว และพาดพิงถึงแบงก์ชาติ ว่า รัฐบาลควรมีการแก้กฎหมาย กำหนดอัตราเงินเฟ้อ และ มองว่า ปัจจุบันผู้ว่าแบงก์ชาติมีอิสระมากเกินไป พร้อมกับชี้ว่า ควรเปลี่ยนผู้ว่าแบงก์ชาติ

โดยข้อความระบุว่า เงินบาทแข็ง​มากเกินไป​: รัฐบาลควรเปลี่ยนนโยบาย​จาก กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ​ เป็นกำหนดเป้าหมายอัตรา​แล​ก​เปลี่ยน​เงินบาท ศ.ดร.สุชาติ​ ธาดาธำรงเวช อดีต​ร​มว.คลัง​ อดีตรมว.ศึกษา 12 มกราคม​ 2563

1) ทุกวันนี้​แบงค์ชาติ​ มักบอกว่าเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ​ เพราะประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด​ หากทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง​ จะยิ่งเกินดุลฯ ไปกันใหญ่​ จะถูกสหรัฐเล่นงานได้

2) แบงค์ชาติคิดว่า​ ในเมื่อเงินบาทแข็งค่า​มาก การส่งออกสินค้าและบริการ​ (รวมท่องเที่ยวขาเข้า)​ จะลด​ลง​มาก จะไปทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเปลี่ยนจากเกินดุล​ฯ​ เป็นขาดดุล​ฯ แล้วค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงเอง​ ความคิดเช่นนี้​ ดูเหมือนขาดความรู้เศรษฐศาสตร์มหภาค​ ความจริงคือ​ ค่าเงินบาทแข็ง​ ทำให้ส่งออกลด​ แต่นำเข้าลดลงมากกว่า​ จึงทำให้ดุลสินค้าและบริการยังเกินดุลต่อเนื่อง​ และเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลง

3) ข้อแท้จริงค่าเงินบาทแข็งมากๆ​ เกิดจากแบงค์ชาติ​ ทำให้ปริมาณเงินบาท​ มีน้อยกว่าที่ควรในระบบเศรษฐกิจของชาติ (การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด​เป็นเพียงส่วนเล็กๆ) เงินบาทที่แข็งค่า​ ทำให้ราคาสินค้าออกและท่องเที่ยว​ในรูปเงินต่างประเทศแพงขึ้น​ การส่งออกฯ​ จึงลดลง​ ไปลด​ GDP​ (เพราะสินค้าและบริการส่งออก​ ก็คือส่วนใหญ่ๆ​ ของ​ GDP​ ประมาณ​ 70%)​ เมื่อ​ GDP​ ลดลง​ จะทำให้​สินค้าและบริการนำเข้าลดลง​ แต่ค่า​ percentage (%) ของ​ความยืดหยุ่นของการนำเข้าต่อ​ GDP​ (import elasticity with respect to GDP) เท่ากับ​1.85 ก็คือ​ หาก GDP​ ลดลง​ 1% สินค้าและบริการนำเข้าจะลดลง​ 1.85% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด​ในภาวะเงินบาทแข็งค่า​ จึงเกิดขึ้นได้​ เพราะการนำเข้าฯ​ ลดลงเร็วกว่าการส่งออก​ฯ ที่ลดลง

4) ในทางกลับกัน​ หากเราปล่อยให้ปริมาณเงินบาทเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย​ อย่างเหมาะสม เงินบาทก็จะอ่อนค่าลง​ การส่งออกฯจะเพิ่มขึ้น​ ไปเพิ่ม​ GDP​ แล้วจะทำให้การนำเข้าฯเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออก​ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลง​ จนอาจขาดดุลได้ และไม่ถูกสหรัฐเล่นงาน

5) แบงค์ชาติ​มีหน้าที่บริหารระบบเศรษฐกิจ​ โดยใช้ปรัชญาความคิด​ ในแบบ​เศรษฐศาสตร์มหภาค​ แต่ผู้ใหญ่ในแบงค์ชาติ​ คิดและวิเคราะห์แบบ​เศรษฐศาสตร์จุลภาค​ คือคิดเป็นเรื่องๆ​ เป็นชิ้นๆ​ ไม่เป็นระบบ​เชื่อมโยงต่อเนื่อง ข้อสรุปที่ได้​ จึงมักตรงข้ามอยู่บ่อยๆ ในกรณีนี้​ ค่าเงินบาทแข็ง​มาก แทนที่จะไปแก้ที่ระบบ​ กลับไปแก้เรื่องเล็กๆน้อยๆ​ เช่น​ ให้เอกชนเก็บเงินตราต่างประเทศไว้ได้มากขึ้น​ ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ​ แก้ไขปัญหาไม่ได้

6) ความคิดความเข้าใจ เช่นนี้​ ทำให้​ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย​ เติบโตต่ำอย่างต่อเนื่อง​มา​กว่า 5 ปีแล้ว​ และเนื่องจากนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน​ เป็นกลไกราคา​ จึงมีผลมากต่อระบบเศรษฐกิจ​มากกว่านโยบายการคลังมาก​ ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญเติบโต​ และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลง​

7) รัฐบาลควรเปลี่ยนผู้บริหารแบงค์ชาติ​ ไปทำหน้าที่อื่น​ เพราะดูแล้วไม่มีความรู้​ ไม่มีประสบการณ์​ แล้วหาคนที่เข้าใจระบบเศรษกิจมหภาคอย่างลึกซึ้งมาทำหน้าที่แทน ผู้ว่าแบงค์ชาติญี่ปุ่นและจีน​ เป็นนักเศรษศาสตร์มหภาค​ มีประสบการณ์​ และเชี่ยวชาญ​ มีอายุกว่า​ 70​ ปี​

8) รัฐบาลควรแก้กฎหมายแบงค์ชาติ​ จาก​การเน้น​การกำหนดอัตราเงินเฟ้อ​ (Inflation ​targeting) ซึ่งมี​การใช้น้อยแล้ว เพราะโลกไม่มีปัญหา​เงินเฟ้อ​ มา​เป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน​ (Exchange rate​ targeting) ซึ่งหลายประเทศใช้กัน​ และควรแยก​ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ออกจากงานแบงค์ชาติ​ เพราะเป็นเรื่อง​รายละเอียดทางบัญชีและกฎหมาย ซึ่งทำให้แบงค์ชาติคิด​เศรษฐศาสตร์มหภาคไม่เป็น​ ไปคิดเป็นรายละเอียดหมด​ ตัวอย่างเช่น​ แบงค์ชาติไปคิดและไปทำ​ รายละเอียดของอัตรา​เงินเฟ้อ​เป็นรายสาขา​ ทั้งๆ​ ที่เงินเฟ้อเกิดจาก​ อัตราการเพิ่มของปริมาณเงินบาทโดยรวมเพิ่มเร็วกว่า​ ​อัตราการเพิ่มของรายได้ของชาติ​ (Monetary​ growth สูงกว่า​ Real GDP growth)

9) ปัจจุบันผู้ว่าแบงค์ชาติมีอิสระมากไป​ ไม่รายงานใคร ไม่ต้องรับผิดชอบผลงานของตนต่อประเทศและประชาชน​ ทำให้ประเทศยากจนลงมานาน​ รัฐบาลจึงควรแก้กฎหมายแบงค์ชาติ​ ให้​ “การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าแบงค์ชาติ​ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี​ โดยการเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” และควรหาผู้ใหญ่ที่เป็น​ นักเศรษฐศาสตร์​มหภาค​จากกระทรวงการคลัง​ มาดูแลแบงค์ชาติ

10) ให้คิดถึงสมัยพลอ.ชาติชาย​ เป็นนายกรัฐมนตรี​ ที่เรากำหนดค่าเงินบาทกับตระกร้าเงินตราต่างประเทศ​ (เงินดอลล่าร์สหรัฐ​ มีสัดส่วน​ 70%) แล้วช่วงนั้น​ เงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนลงมาก​ เงินบาทก็อ่อนค่าตาม​ ทำให้การส่งออกไทย​ เติบโตโดยเฉลี่ยกว่า​ 20% ทุกปี​ ทำให้​ GDP เฉลี่ยโตกว่า​ 10% (สโลแกน​ “การเปลี่ยนสนามรบ​ เป็นสนามการค้า” เป็นเพียงส่วนเล็กๆ)​ ดังนั้น​ ถ้าเราเปลี่ยนจาก​ นโยบาย​จากการคุมเงินเฟ้อ​ มาเป็น​นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน และหากเราพยายามทำให้ค่าเงินบาทเป็น​ 36​ บาท​ต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ​ ระบบเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโต​ได้ถึง 6-7% ต่อปี​ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตได้ถึงขนาดนั้น รายได้ภาษีจะเพิ่มขึ้นมากมาย​ ปัญหาต่างๆ​ ก็จะแก้ไขได้ง่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน