คลังเล็งขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ ให้ผู้เสียภาษีช่วยใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจแทนงบปี’63 ที่เบิกจ่ายล่าช้า แต่ต้องรอนโยบายรัฐบาล ด้านสรรพากรลงนาม 20 ธนาคาร ดึงข้อมูลบัญชีเดียวก่อนปล่อยกู้

คลังเล็งขยายเวลายื่นภาษีเงินได้ – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกรณีที่มีข้อเสนอให้มีการขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2562 จากเดิมได้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2563 เป็นถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 เบื้องต้นเป็นการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไร โดยการเลื่อนเวลาการยื่นและชำระภาษีบุคคลธรรมดาออกไปในทางกฎหมายทำได้ แต่ต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลว่าจะให้กรมสรรพากรดำเนินการหรือไม่ เพราะต้องออกเป็นกฎกระทรวง

“การเสนอขยายเวลาเป็นข้อหารือในที่ประชุม ซึ่งผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่จากการคุยกับผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการพิจารณาว่า งบประมาณปี 2563 มีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดจะทำอย่างไรให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจใจช่วงนี้ และถ้ามีการเลื่อนยื่นแบบ กฎหมายจะทำได้หรือไม่”นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในหลักการเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ สามารถดำเนินการได้ใน 2 รูปแบบคือ 1. กรมจะเร่งคืนเงินภาษีให้เร็วขึ้น โดยตั้งแต่ช่วง ม.ค.ที่ผ่านมา มีมายื่นแล้วกว่า 2 แสนราย ยังไม่มากเพราะเพิ่งเปิดให้เริ่มยื่น ในจำนวนนี้ 80% เป็นการยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต และกว่า 70% ที่ตรวจสอบแล้วไม่ติดปัญหาอะไร ก็คืนภาษีได้ทันทีภายใน 1-3 วัน และ 2. การเลื่อนเวลายื่นแบบภาษีออกไป จากสิ้นสุด มี.ค. เป็นเดือนใดเดือนหนึ่ง เพื่อให้คนมีเงินไปใช้จ่าย แต่ก็ต้องรอนโยบายรัฐบาล

นายเอกนิติ กล่าวว่า ในวันที่ 21 ม.ค.2563 กรมสรรพากรได้ร่วมกับสถาบันการเงิน 20 แห่ง ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้จัดทำบัญชีชุดเดียว ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยกรมสรรพากรได้ส่งรายชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการปรับทำบัญชีถูกต้อง 2.4 หมื่นราย ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นแบบภาษีกับกรมสรรพากร 4 แสนราย ที่ผ่านมาโครงการทำบัญชีเดียวให้ถูกต้อง โดยเว้นค่าปรับเงินเพิ่มมีผู้เข้าร่วมโครงการ 7.9 หมื่นราย และมีผู้ปรับบัญชีให้ถูกต้องเป็นบัญชีเดียว 2.4 หมื่นราย ที่กรมสรรพากรส่งรายชื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นการตอบแทนคนทำดีต้องได้ดี

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่ทำบัญชีเดียว ทางกรมสรรพากรได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ผ่านสมาคมธนาคารไทย ให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีเดียวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพราะตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562 การยื่นขอเงินกู้จากสถาบันการเงินต้องใช้บัญชีที่ได้รับรองกับกรมสรรพากรเป็นหลักฐานการขอกู้ แต่การดำเนินการครั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะไม่ได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มเพราะโครงการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้ว

นายเอกนิติ กล่าวว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพากรในรอบ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (1 ต.ค.-31ธ.ค.2562) ได้จำนวน 3.93 แสนล้านบาท เกินเป้าหมาย 6,500 ล้านบาท โดยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) ในประเทศขยายตัว 5.9% ภาษีแวตจากการนำเข้าสินค้าขยายตัวติดลบ 13.6% ทำให้ภาษีแวตรวมขยายตัวติดลบ 3.3%

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ บสย. มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร ธนาคาร และ บสย. จะร่วมกันเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่

โดยการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งในส่วนของ บสย. จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพากร ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการตลอดปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ บสย. กำหนด สำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อจากธนาคารพันธมิตรทุกแห่ง เพื่อเป็นแรงจูงใจและของขวัญให้กับกลุ่ม SMEs ที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยตัวเลขประมาณการ GDP ของ SMEs ปี 2562 เติบโต 3.5% ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศที่เติบโต 2.5% แต่ธุรกิจ SMEs เองกลับติดหล่ม ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการมีงบการเงินหลายเล่ม หรือมีหลายบัญชี จึงไม่สามารถนำงบการเงินมาวิเคราะห์สภาพคล่องและรู้ผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจได้ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก

เนื่องจากงบการเงินที่นำมาแสดงไม่สามารถสะท้อนศักยภาพ ของธุรกิจ จึงส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน สมาคมธนาคารไทยต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และหันมาทำบัญชีเพียงเล่มเดียว จึงร่วมมือกับกรมสรรพากรและสถาบันการเงินทั้ง 20 แห่ง เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารที่สะดวกได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน