เอไอเอส ชนะศึกประมูล 5G กวาดเรียบ 3 คลื่น

วันที่ 16 ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 MHz และ 26 GHz หรือ คลื่น 5G โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

โดยเวลา 07.30 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เข้ารายงานตัวที่จุดลงทะเบียนบริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช. เป็นรายแรก ตามมาด้วย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดย นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 3 นำโดยนายเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะกรรมการบริหาร ส่วน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 4 นำโดย นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่, นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริษัท และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 5 นำโดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ทั้งนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้กสทช. ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ตต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นลงลายมือชื่อในแบบลงทะเบียนและรับบัตรประจำตัว โดยต้องฝากอุปกรณ์สื่อสารหรือสิ่งของที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าห้องประมูลไว้กับเจ้าหน้าที่ และไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมการประมูลที่มาภายหลังเวลา 09.30 น. เข้าห้องประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้กล่าวระหว่างเปิดการจัดงานประมูลว่า การประมูลคลื่นความถี่ 5G เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงช้า ถือว่าถอยหลัง อย่างไรก็ดีขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่นี้ โดยมีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 26,376 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 11,421 ล้านบาท รวมทั้ง 3 ย่านความถี่ มีจำนวนทั้งสิ้น 49 ใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำรวมทั้งสิ้น 73,175 ล้านบาท หลังจากที่มีการประมูลเสร็จแล้ว สำนักงาน กสทช. คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท นอกจาก 5G จะช่วยในขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ในเวลา 9.30 น. ได้เริ่มเคาะราคารอบแรกโดยมีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ในราคาเริ่มต้นประมูลที่ใบอนุญาตละ 8,792 ล้านบาท โดยมีผู้ประมูล 3 ราย คือ แคท เอไอเอส และ ทรู ทั้งผู้ประมูลจะต้องเคาะราคาเพิ่มครั้งละ 440 ล้านบาท ซึ่งผู้ร่วมประมูลมีการเคาะราคากันถึง 20 รอบ สิ้นสุดลงในเวลา 11.57 น. โดยปิดการประมูลด้วยราคา 17,153 ล้านบาท/ใบอนุญาต และถือว่าสูงกว่าราคาเปิดประมูลถึง 8,361 ล้านบาท หรือประมาณ 95% สูงขึ้นเกือบเท่าตัว และเมื่อรวมทั้ง 3 ใบอนุญาตแล้วเท่ากับ 51,459 ล้านบาท

เวลา 12.50 น. เริ่มประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นประมูลใบละ 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเริ่มต้นครั้งละ 93 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และ แคท โดยราคาเริ่มต้นค่อใบอนุญาต ทั้งหมดรวมมูลค่า 35,378 ล้านบาท ทั้งนี้การประมูลรอบแรกพบว่าผู้ประมูลทั้ง 3 ราย ยื่นประมูลรวมกันทั้งสิ้น 25 ใบอนุญาต ซึ่งมีความต้องการเกินที่เสนอถึง 6 ใบอนุญาต ทำให้ต้องมีการประมูลต่อในรอบที่ 2 และสามารถปิดการประมูลด้วยราคา 1,956 ล้านบาท/ใบอนุญาต ณ เวลา 13.28 น. หรือใช้เวลาในการประมูล คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เพียง 38 นาที และเมื่อรวมทั้ง 19 ใบอนุญาตแล้วเท่ากับ 37,164 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ต่อมาเวลา 14.30 น. เริ่มประมูล 5G คลื่นความภี่ 26GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้นใบละ 423 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 22 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค และ ทีโอที ผลปรากฎว่าใช้เวลาประมูลเพียงรอบเดียว 20 นาที เนื่องจากมีผู้ประมูลเพียง 26 ใบอนุญาต โดยราคาประมูลที่ใบละ 445 ล้านบาท และเมื่อรวมทั้ง 26ใบอนุญาตแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 11,570 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ถือเป็นการเสร็จสิ้นการประมูลคลื่น 5G รวม 3 ย่านความถี่ 700, 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต คิดเเป็นมูลค่าการประมูลที่ได้ทั้งสิ้น 100,193 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงกว่าที่กสทช.กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 73,175 ล้านบาท โดยใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 20 นาที หลังจากนี้ กสทช. จะมีการรับรองผลการประมูล ก่อนที่จะประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลในแต่ละย่านความถี่
พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประกาศผลการประมูลคลื่น 5G ใน 3 คลื่นความถี่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 MHz อย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้เวลาในการประมูล 5.35 นาที โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. และสิ้นสุดการประมูลเวลา 15.05 น. ทั้งนี้ได้เงินประมูลทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท

สำหรับสรุปผลการประมูลใบอนุญาตทั้ง 3 คลื่นความถี่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 MHz โดยภาพรวมการประมูล สำหรับคลื่นความถี่ 700 MHz เวลาเริ่มต้น 09.30 น. เวลาสิ้นสุด 12.30 น. จำนวน 20 รอบ จำนวนชุดที่มีการประมูล 3 ชุด โดยราคาสุดท้ายของขั้นตอนการจัดสรรอยู่ที่ 17,153 ล้านบาท รวมเงินที่ได้จากการประมูลทั้งสิ้น 51,460 ล้านบาท มีผู้ประมูล 3 ราย คือ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดยผลการประมูลแคท ชนะการประมูล 2 ชุด เป็นเงินรวม 34,306 ล้านบาท และ เอไอเอส ชนะการประมูล 1 ชุด เป็นเงิน 17,154 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินประมูลรวม 51,460 ล้านบาท

ขณะที่การประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และ แคท จำนวนชุดที่มีการประมูล 19 ชุด เริ่มประมูล 12.50 น. สิ้นสุดการประมูลเวลา 13.58 น. ประมูลทั้งสิ้น 2 รอบ โดยมีผู้ประมูลทั้ง 19 ชุด ด้วยราคา 1,956 ล้านบาท ได้เงินจากการประมูลรวม 37,433.8 ล้านบาท โดยผู้ชนะประมูลดังนี้ เอไอเอส 10 ชุด เงินประมูลรวม 19,561 ล้านบาท และ ทรู ชนะการประมูล 9 ชุด เงินประมูลรวม 17,872.88 ล้านบาท คิดเป็นเงินประมูลรวม 37,433.8 ล้านบาท

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 26 MHz จำนวน 27 ชุด โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที ทั้งนี้มีผู้ประมูลเพียง 26 ชุด โดยเริ่มต้นประมูลเวลา 14.30 น. และสิ้นสุดการประมูลเวลา 15.05 น. ซึ่งประมูลเพียงรอบเดียว ผลการประมูลดังนี้ เอไอเอส ชนะการประมูล 12 ชุด เงินประมูลรวม 5,345 ล้านบาท ทรู ชนะประมูล 8 ชุด เงินประมูลรวม 3,576.88 ล้านบาท ส่วนทีโอที ชนะประมูล 4 ชุด เป็นเงินรวม 1,795 ล้านบาท และ ดีแทค ชนะประมูล 2 ชุด เป็นเงินรวม 910 ล้านบาท

ทั้งนี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ กสทช.จะมีการรับรองผลการประมูล ซึ่งถ้าเอกชนมี แบงก์การันตี เตรียมเงินที่จะชำระให้ครบ และกสทช.จะตรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการประมูล 5G ครั้งนี้ เอไอเอส ประมูลได้ทั้ง 3 ย่านความถี่ รวมมูลค่า 42,060 ล้านบาท ตามมาด้วยแคท ชนะประมูล 1 ย่านความถี่ มูลค่า 34,306 ล้านบาท และทรู ชนะประมูล 2 ย่านความถี่ มูลค่ารวม 21,448 ล้านบาท ส่วน ทีโอที ชนะ 1 ย่านความถี่ มูลค่า 1,795 ล้านบาท และดีแทค ชนะ 1 ย่านความถี่ มูลค่าประมูลที่ 910 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน