เช็กลิสต์มาตรการโควิด2แสนล. ชิมลาง‘แผนแรก’-กู้ชีพเศรษฐกิจ

เช็กลิสต์มาตรการโควิด2แสนล. ชิมลาง‘แผนแรก’- กู้ชีพเศรษฐกิจ – ย่างเข้าเดือนมี.ค. กับภาวะเศรษฐกิจ-การเมืองที่เข้าขั้น ‘มืดแปดด้าน’ โดยเฉพาะปัจจัยท้าทายจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 เหลือ 1.5-2.5% เป็นการคาดการณ์ที่ยังไม่รวมผลกระทบโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ. เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เตรียมปรับลดจีดีพี จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8%

ขณะที่ ‘ทิสโก้’ คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ 0.8% เท่านั้น ส่วนธนาคารกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่ำสุด 0.5%

เป็นแนวโน้มที่เอกชนมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยืนอยู่ใน ‘เหว’ ไม่ใช่ ‘ปากเหว’

คาดการณ์ว่าเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19 จะลากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคดำมืด นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 และถ้ายังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายจะชะลอตัวต่อเนื่องไปยังไตรมาส 2/2563 หรืออาจจะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” เต็มตัว

ก่อนที่จะไปถึงภาวะดังกล่าวรัฐบาลจำเป็นต้อง “จัดยา” สำรับใหญ่ เพื่อดึงเศรษฐกิจไทยให้อยู่แค่ในภาวะปางตาย แต่ไม่ถึงกับตายไปก่อน

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จึงค่อยใช้แผนฟื้นฟูเต็มรูปแบบ

เมื่อโควิด-19 คือปัญหาเฉพาะหน้า และรัฐบาล กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องแก้ปัญหาแบบตึงมือ ชนิดที่ว่ามีอะไรอยู่บนหน้าตักตามตำราเศรษฐศาสตร์ ให้หยิบจับเติมลงระบบเศรษฐกิจไปก่อน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

จึงเป็นที่มาของชุดมาตรการและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา ชุดที่ 1 วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อของสถาบันการเงิน

มาตรการที่ 2 พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ ให้ผู้ประกอบการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

มาตรการที่ 3 ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่าง เพื่อทำให้สถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อ เพื่อให้ ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

มาตรการที่ 4 สำนักงานประกันสังคมจะให้วงเงินสินเชื่อ รวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม

มาตรการที่ 5 มาตรการทางด้านภาษี ประกอบด้วย การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กับผู้ประกอบการในประเทศจาก 3% เหลือ 1.5% ช่วงเม.ย.-ก.ย.2563

ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายสามารถหัก รายจ่ายดอกเบี้ยได้ 1.5 เท่า สำหรับสินเชื่อซอฟต์โลน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 ให้สถานประกอบการนำรายจ่าย ค่าจ้างลูกจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอี นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนได้ 3 เท่า และเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการภายใน 15 วัน-45 วัน

มาตรการด้านตลาดทุน ให้หักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

นอกจากนี้มีมาตรการอื่นๆ เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จากอัตรา 5% เหลือ 0.1% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน

รวมทั้งจัดตั้งกองทุนใหม่วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น ถูกเลิกจ้างงาน หรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ พนักงานทำงานได้ไม่เต็มที่

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. คาดว่า มาตรการกระตุ้นระยะที่ 1 จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐที่ผ่านมา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะฝืดจากปัจจัยใดจนถึงเรื่องโควิด-19 สถาบันการเงินของรัฐจะถูกใช้เป็นแขนขาเสมอในการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพราะทำได้เร็ว ทำได้ไว ทำแล้วได้ดั่งใจ

เช่น กรณีซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่ธนาคารออมสินรับไปดูแลในการปล่อยให้สถาบันการเงินอื่น

การให้สินเชื่อ การเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ในช่วงที่เงินขาดมือ รายได้ไม่เข้า ธุรกิจไม่เดิน เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า เงินสินเชื่อเหล่านี้จะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบมากน้อยเพียงใด

ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน ถ้าได้รับเงินเติมเข้ามือ แล้วธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้

เช่นเดียวกับมาตรการภาษี ที่มักจะคงรูปแบบเดิม แต่ปรับสัดส่วนหักลดหย่อนขึ้นไปตามแต่สถานการณ์ ทำให้ประเมินว่าภาพรวมมาตรการรับมือ โควิดชุดที่ 1 จึงเป็นเพียงมาตรการขัดตาทัพ ที่ตำน้ำพริกในครกเก่า เพียงแต่เปลี่ยนถ้วยใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์เท่านั้น

ไม่นับรวมมาตรการแจกเงินผ่านพร้อมเพย์รายละ 2,000 บาท ที่สุดท้ายกระแสตีกลับจนต้องยกเลิกไป

อนุสรณ์ ธรรมใจ

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัย รังสิต และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัส โควิด-19 ชุดที่ 1 เช่น ซอฟต์โลนยังไม่เพียงพอ ส่วนมาตรการทางด้านภาษีก็ช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีก ต้องเร็วและแรงพอเพื่อให้พลิกเศรษฐกิจได้ เช่น มาตรการ QE หรือ Quantitative Easing คือนโยบายทางการเงินแบบหนึ่ง โดยหลักการจะนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น

ส่วนที่คาดว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 400,000 ล้านบาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเม็ดเงินที่คำนวณส่วนหนึ่งเป็นมาตรการจากซอฟต์โลน เมื่อเอกชนหรือธุรกิจกู้เงิน แต่ไม่ได้นำไปดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่นับว่าเป็นเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบ

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจการเมือง ระบุว่า มาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่เห็นด้วยกับมาตรการทางการเงิน ภาษี และมาตรการอื่นที่เป็นการช่วยผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้ผ่านรอดสถานการณ์การระบาดหนักของไวรัส ไปได้

สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นเท่าไร ยังไม่มีใครคาดเดาได้ขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส หากจบไวเศรษฐกิจก็โตได้มากกว่า 1% แต่หากรุนแรงยืดเยื้อก็ต่ำกว่า 1%

แต่หากรุนแรงควบคุมไม่ได้เศรษฐกิจปีนี้คงขยายตัวติดลบ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

อย่างไรก็ตามมาตรการชุดที่ 1 ที่เพิ่งออกมาดูเหมือนจะไม่เพียงพอ ดูแลไม่เบ็ดเสร็จ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงเกาะติดกระทรวงการคลัง พร้อมสั่งให้เตรียมแผน 3 เรื่องสำคัญ เตรียมการรับมือในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งมาตรการชุดที่ 2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดพิเศษ และมาตรการกระตุ้นปลุกตลาดทุนที่ทิ้งดิ่งอย่างหนัก

เป็นการบ้านที่กระทรวงการคลังต้องเตรียมเนื้อหนังไว้ให้พร้อม ชนิดที่หากต้องการนำมาใช้ต้องมีทันที

เพราะศึกโควิด-19 ครั้งนี้ดูแล้วคงไม่จบลงง่ายๆ ยังต้องหายใจไม่เต็มปอดกันอีกพักใหญ่ๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน