แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ -5.3% ประเมินโควิด-19 ไม่ออก แต่ถ้าเหมือนอิตาลี ก็ดิ่งอีก ดึงส่งออก-ท่องเที่ยวโคม่าหวังนโยบายคลังเร่งช่วย ด้าน กนง.กัดฟันคงดอกเบี้ย 0.75%

แบงก์ชาติหั่นศก.ติดลบ5.3% – นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 5.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม และหากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้ รุนแรงเหมือนกรณี อิตาลี เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปอีก แต่ก็คาดว่ากลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3% ในปี 2564

“ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างทั่วเกือบทั่วทั้งโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการคาดการไว้ล่วงหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง” นายดอน กล่าว

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขของไทย คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 2/2563 ส่วนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องใช้เวลา โดยประมาณการณ์ครั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการการเงินการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความยากลำบากมากในการทำประมาณการ โดยเมื่อมองไปข้างหน้าความไม่แน่นอนมีสูงมากขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ระยะเวลาและขอบเขตของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ และการพัฒนาวัคซีน รวมถึงยา ความสามารถในการรองรับ shock และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการการเงินการคลังของประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทยจะหดตัวแค่ชั่วคราว โดยคาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ปรับดีขึ้น ส่วนระหว่างปีนี้คาดว่าสถานการณ์จะรุนแรงสุดในไตรมาส 2/2563 จากการใช้มาตรการเจ็บแต่จบเข้ามา คือ การห้ามการเคลื่อนย้าย การยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นผลกระทบลึกสุดในไตรมาส 2/2563 หลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มติดลบ ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกในปีหน้า แต่ภาพรวม พบว่า อัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั้ง 2 ปี” นายดอน กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงและยังโน้มไปด้านต่ำ จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะปรับตัวลงได้อีก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการยืดเยื้อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านบวก จากมาตรการของรัฐบาลที่จะทยอยออกมาในระยะต่อไป

นายดอน กล่าวอีกว่า ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยคาดว่าทั้ง 2 ส่วนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปีหน้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ในปีนี้ยังคงหดตัว จากรายได้ได้ชะลอลง การเลี่ยงออกไปใช้จ่าย และความเชื่อมั่น ขณะที่การลงทุนเอกชนยังหดตัวตามอุปสงค์ในและต่างประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงขยายตัวแต่ยังไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจทั้งปีเติบโตได้

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. ในวันที่ 25 มี.ค. 2563มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม โดยที่ประชุมมองว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน