น.ส.จริยา ศรีสุทธิไชยา เลขาธิการสำรักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 9% ของจีดีพีทั้งหมด ในไตรมาส 2 ปี 2560 จะขยายตัวได้มากกว่า 2% เนื่องจากช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตสินค้าเกษตร

ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศ ในปี 2559 มีการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีสัดส่วนประมาณ 16% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ส่วนการนำเข้ามีสัดส่วนเพียง 7% ของมูลค่าการค้าปี 2559 ขณะที่สถานการณ์การค้าช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค-เม.ย) พบว่า การค้าสินค้าเกษตรไทยมีมูลค่าการค้ารวมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 6.6% โดยมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 5.95 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากในช่วง 4 เดือนนี้ มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่สูงขึ้น

สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 4.34 แสนล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปี 2559 อยู่ที่ 8.5% ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มูลค่าประมาณ 1.6 แสนล้าน ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรในตลาดต่างประเทศเท่ากับ 2.73 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.8% โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เนื้อไก่ ผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วง และมังคุด รวมถึงอาหารแปรรูปต่างๆ โดยส่งออกไปตลาดคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกาและตลาดอาเซียน

น.ส.จริยากล่าวต่อไปว่า ปีนี้ยังคงเป็นปีทองของผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้การส่งออกผลไม้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการสูงรวมถึงการขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว โดยจะเน้นส่งออกไปยังประเทศจีนสู่ตลาดกลางมณฑลเสฉวน บนเส้นทาง R3 อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย โดยเฉพาะสินค้าทุเรียนสดจะเพิ่มเป็น 25,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 21,000 ล้านบาท ขณะที่มังคุดคาดว่ามูลค่าจะปรับตัวสูงขึ้น จาก 4,300 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีนและฮ่องกง อันจะส่งผลให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่เเล้ว

“แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้จะมากกว่าปีที่แล้ว แต่ราคาปีนี้ไม่ได้ตกต่ำลง โดยเฉพาะทุเรียน ปีนี้คาดว่าผลผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 633,540 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 30-40% แต่ขณะนี้ราคาทุเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ไม่ได้ตกต่ำอย่างที่หลายฝ่ายกังวลและตั้งข้อสังเกต ต้องมองที่ภาพรวมปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ปกติ ยังเพียงพอต่อการบริโภค และราคายังสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีปริมาณผลผลิตเท่ากัน แต่ราคาอยู่ที่ 40-50 บาทต่อก.ก. ขณะที่มังคุดปีนี้คาดผลผลิต 217,039 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมาราว 2 หมื่นตัน แต่ราคาปีนี้สูงกว่า อยู่ที่ 78 บาทต่อก.ก. จาก 56 บาทต่อก.ก.”น.ส.จริยากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน