เปิดแนวคิดเอกชน‘พอ-ไม่พอ’

รัฐเยียวยาผลกระทบ‘โควิด’

รัฐเยียวยาผลกระทบ‘โควิด’ แห่ลงทะเบียนกันอย่างคึกคักเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 รวม 15 มาตรการย่อย

แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกมี 8 มาตรการย่อยที่เข้าไปช่วยเหลือแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือจ่ายเงินค่าประกันสังคมรายเดือนเอง ลูกจ้างรายวัน หาบเร่แผงลอย คนขับรถรับจ้าง ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ที่ไม่มีรายได้ประจำ ลูกจ้างสนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส เป็นต้น ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

ส่วนอีกกลุ่มมี 7 มาตรการย่อยเน้นดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นมาตรการระยะสั้นที่จะเข้าไปช่วยเหลือให้อยู่รอดไปอย่างน้อย 3 เดือน

กลุ่มประชาชนอาชีพอิสระคาดว่าจะมีประมาณ 3 ล้านคน ประมาณการคนละ 5,000 บาท/เดือนระยะเวลา 3 เดือน หรือใช้เงินประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ต้องลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งจะตรวจสอบคุณสมบัติ หลักฐาน ภายใน 5 วันทำการ ก่อนโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือโอนเข้าบัญชีธนาคาร

หากใครไม่สามารถเข้าลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ ก็สามารถนำเอกสารไปติดต่อธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ทุกสาขา

2.สินเชื่อฉุกเฉินวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกินรายละ 1 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน

3.สินเชื่อพิเศษ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ต้องมีหลักประกัน

4.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำรัฐ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

5.จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ เพื่อให้คนมีเงินเบี้ยเลี้ยงจากการฝึกอบรม

6.เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิม 30 มิ.ย.63 เป็น 31 ส.ค.63

7.เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

และ 8.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทน ในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

ส่วนกลุ่มที่ 2 ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการมี 7 มาตรการย่อย คือ

1.เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3% ช่วง 2 ปีแรก

2.ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 จากเดิมเดือนพ.ค. เป็นภายใน 31 ส.ค. ส่วนภ.ง.ด.51 จากเดิมเดือนส.ค. เป็นภายใน 30 ก.ย.63

3.ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน

4.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสถานบริการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 พ.ค. ให้เสียภาษี 15 ก.ค.

5.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไป ระยะเวลา 3 เดือน

6.ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงเดือนก.ย.

และ 7.ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ และลิสซิ่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค.2564

ด้านภาคเอกชนมองมาตรการต่างๆ เหล่านี้อย่างไร

เริ่มที่ นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มาตรการดูแล และเยียวยา ยังไม่เพียงพอให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถอยู่รอดได้ การเลื่อนกำหนดเวลาการจ่ายหนี้ไม่เพียงพอกับต้นทุนที่ต้องจ่าย

หากเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ สรท. จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมาช่วยได้น้อยมาก หากเทียบกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ เช่น ด้านการเงิน ขอให้กระทรวงการคลังยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินปันผลหรือรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ที่นำกลับมาจากต่างประเทศ เป็นการถาวร

ขอให้คืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเรียกเก็บเกินไว้ย้อนหลัง 5 ปี ลดอัตราการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 5%

และเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณียื่นเป็นเอกสารเหลือ 30 วัน เป็นต้น

ด้านแรงงานกรณีที่รัฐสั่งให้หยุดเป็นการชั่วคราว ขอให้กองทุนประกันสังคมจ่ายค่าแรง 75% ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ให้กับแรงงานแทนผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ภายหลังวิกฤต

ขอให้กระทรวงแรงงานลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เหลือ 1% ขอให้กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างแทนสถานประกอบการที่ปิดกิจการ เป็นต้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลถือว่าเพียงพอ ธุรกิจทุกประเภทจะต้องปรับตัวอาจปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์

แม้ว่าจะมีธุรกิจที่ได้รับผล กระทบอาจเลย์ออฟพนักงาน แต่ภาครัฐมีหนทางช่วยเหลือและเยียวยาให้ แต่บางธุรกิจจะได้รับอานิสงส์ในทางบวก เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเดลิเวอรี่

ส่วนของสมาชิกของหอการค้าไทยปรับตัวในการประกอบธุรกิจอย่างมาก เช่น ธุรกิจโรงแรม หันมาให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น เช่น การเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าพักฟรีหรือในราคาพิเศษ

การเปิดตัวโครงการ ‘Amazing distancing at hotel’ ขึ้น เป็นความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่สะดวกจะทำงานที่บ้าน สามารถมาใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่โรงแรมได้

นอกจากนี้ผู้ประกอบการโรงแรมบางส่วนยังหันมาให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการกักตัว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโดยเปิดให้ผู้ที่ต้องการกักตัวเข้าพัก 14 วัน ในราคาพิเศษเพื่อดูอาการ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์การระบาดของไวรัส

ในส่วนของสมาชิกของสภาหอการค้าไทยที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศ ยังทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อแนะนำร้านอาหารที่สามารถเดลิเวอรี่ส่งให้กับลูกค้าในจังหวัดนั้นๆ

ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกันและปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้

ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องติดตามรายละเอียดและผลของมาตรการต่างๆ ที่รัฐประกาศออกมาจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองว่าข้อดีของรัฐบาลในขณะนี้คือสามารถปรับการ ทำงานในลักษณะการเว้นห่างทางสังคม (โซเชี่ยล ดิสแทนซิ่ง) ร่วมกันได้ดี และสามารถรวบอำนาจการบริหารจัดการทุกอย่าง

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรอบคอบมีการสื่อสารที่ดีประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจได้ชัดเจน อย่าให้คนตีความกันเอง สองสามด้านแล้วทำให้ทำงานไม่ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงในขณะนี้คือการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันไปยังจุดจำหน่ายต่างๆ ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในระบบการขับเคลื่อนของภาครัฐ ภาคเอกชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม มั่นใจจะเป็นศักยภาพสำคัญและความหวังที่จะทำให้เกิดการก้าวข้ามช่วงวิกฤตนี้ไปได้

ทั้งยังสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง เป็นที่น่าลงทุนจากทั่วโลกได้อีกครั้ง ทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพของไทยต่อทั่วโลกด้วยหากผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี

“อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเรื่องของการขนส่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดการขาดหายของระบบขนส่งสินค้าที่เป็นเรื่องสำคัญมาก”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน