สะเทือน! แน่ โควิด-19 ลากยาวสิ้นปี กกร. จ่อหั่นเป้าจีดีพี-ส่งออกรอบที่ 4 ติดต่อกัน หลังอุตฯรถยนต์กระอัก อุตฯ รายใหญ่ออกอาการ

โควิด-19 ลากยาวสิ้นปี – นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 8 เม.ย.นี้ จะพิจารณาปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และการส่งออกของไทยปี 2563 ลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน จากการประชุมเดือนที่ผ่านมาได้ลดคาดการณ์จีดีพีลงเหลือ 1.5-2% และคงส่งออก -2 ถึง 0% เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกและไทยยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“ขณะนี้ต้องยอมรับภาคเอกชนกังวลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจไม่จบโดยเร็ว โดยส่วนตัวมองว่าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 น่าจะลากยาวถึงสิ้นปี มีโอกาสทำให้จีดีพีของไทยติดลบไม่น้อยกว่า 5.3% ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบที่ 5.3% ส่วนการส่งออกมองว่ามีโอกาสติดลบ 8.5-10%”นายเกรียงไกรกล่าว

ล่าสุดยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ค่ายใหญ่ๆ ได้สั่งสายการผลิตหยุดผลิตทั่วโลกเป็นการชั่วคราว รวมถึงไทยที่ล่าสุดมีค่ายรถ 5 ค่ายใหญ่ทั้งโตโยต้า-ฮอนด้า-มิตซูบิชิ-ฟอร์ด-มาสด้า ปิดไลน์ผลิตชั่วคราวช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคลัสเตอร์ยานยนต์ภาพรวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวไปด้วย

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายรถยนต์ได้อาศัยช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม (โซเชี่ยล ดิสแทนซิ่ง) และนโยบายทำงานที่บ้าน หยุดไลน์ผลิตก็มีทั้งหยุดบางส่วนและหยุดทั้งหมดขึ้นอยู่แต่ละบริษัทและมีการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 85-100% ซึ่งส่วนหนึ่งจะปรับให้สมดุลกับความต้องการรถที่ลดลงด้วย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่หยุดบินจำนวนมาก ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อเชื่อว่าหลายอุตสาหกรรมจะใช้มาตรการลดกำลังผลิตหรือหยุดการผลิตตามมาในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมาชิกส.อ.ท. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียม 2 แผนรองรับ ได้แก่ 1. แผนสำรองทางธุรกิจ” หรือ BCP รองรับกรณีฉุกเฉินโดยให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเตรียมแผนต่างๆ รองรับเพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะการคุมเข้มการคัดกรองพนักงานเข้าโรงงาน เพื่อให้กระบวนการผลิตไม่ได้รับผลกระทบ เพราะหากพนักงานติดเชื้อเพียง 1 คนจะทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดและต้องกักกันพนักงานทั้งหมด 14 วัน 2. การเตรียมแผนรองรับกรณีที่อาจปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ เช่น จ.ภูเก็ต ในพื้นที่อื่นตามมา เช่น กทม. ซึ่งต้องวางแผนการบริหารจัดการเรื่องขนส่งและการกระจายสินค้าอย่างทันท่วงทีและมาตรการที่จำเป็นต้องเตรียมไว้เสนอรัฐบาลต่อไป

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มยานยนต์ได้ปรับลดคาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ทั้งปีลงจากเป้าหมายเดิมคาดไว้ 2,000,000 คัน เหลือ 1,900,000 คัน ทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมหายไปกว่าแสนล้านบาท ซึ่งการหยุดไลน์ผลิตของ 5 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อให้สอดรับกับสภาพตลาดและลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล คาดว่าตัวเลขการผลิตที่ลดลงช่วงนี้น่าจะเป็นหลักหลายหมื่นคัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน