นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ผู้ส่งออกหยุดการรับซื้อ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งปกติจะส่งมะม่วงโดยการขนส่งทางอากาศ แต่มีการระงับการขนส่งทางอากาศบางเที่ยวบิน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม 20 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) เป็น 80 บาทต่อก.ก. โดยการส่งออก ม.ค.-ก.พ. 2563 ส่งออกได้ปริมาณ 1,901.82 ตัน มูลค่า 168.91 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อนหน้าส่งออกได้ 1440.69 ตัน มูลค่า 161.12 ล้านบาท
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรประสานผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้า 2-3 แห่ง ในการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยินดีลดค่าขนส่งข้ามจังหวัด และได้เสนอโครงการ “ซื้อมะม่วงฝากหมอ” เพื่อเป็นการทำ CSR ของกระทรวงเกษตรฯ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า และเปิดโอกาสให้ประชาชนซื้อมะม่วงคุณภาพส่งออกส่งให้โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเป็นขวัญกำลังใจ
นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรคัดเลือกสินค้าและแนะนำเกษตรกรให้เปิดขายสินค้าออนไลน์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ และจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสินค้ามะม่วง ภายใต้แนวคิดให้ส่วนราชการและประชาชนช่วยกันซื้อมะม่วงคุณภาพดีไปเป็นของขวัญของฝาก เป็นต้น
สำหรับข้อมูล ปี 2561 พื้นที่ปลูกมะม่วงของประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.97 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.12 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,583 ก.ก./ไร่ ต้นทุนการผลิต 5.42 บาท/ก.ก. ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 29.75 บาท/ก.ก. ฤดูการผลิตมะม่วง ปริมาณการส่งออก 117,472 ตัน มูลค่าส่งออก 4,385 ล้านบาท และข้อมูลการส่งออกมะม่วงสดอบไอน้ำไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดหลักเกรดพรีเมี่ยม ปี 2562 มีปริมาณการส่งออก 12,136.70 ตัน มูลค่า 1,261.70 ล้านบาท
ช่วงฤดูกาลผลิตมะม่วงคือเดือนเม.ย.-มิ.ย. ส่งออกได้ปริมาณ 6,327 ตัน หรือคิดเป็น 52.13% มูลค่า 613.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.63% โดยมีโรงอบไอน้ำที่รองรับได้จำนวน 7 โรง
ด้านนายมนตรี ศรีนิล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย กล่าวว่า สถานการณ์มะม่วง ปี 2563 เกิดปัญหาการส่งออกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดด่านมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ที่เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตมะม่วงหลัก โดยเฉพาะเกรดรองไม่สามารถดำเนินการซื้อขายได้โดยปกติ ประกอบกับมะม่วงที่จะส่งออกไปทางเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่เป็นเกรดคุณภาพดีก็มีค่าระวางเครื่องบินสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงการซื้อขายมะม่วงเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก
ฤดูกาลผลิตมะม่วง คาดว่าจะมีมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตัน จากผลผลิตรวม 360,000 ตัน โดยมีผลผลิตในฤดูที่จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. จำนวน 180,000 ตัน หรือคิดเป็น 50% และคาดว่าจะมีผลผลิตที่ออกมามากในช่วงกลางเดือนเม.ย.-พ.ค. จำนวน 80,000 ตัน หรือคิดเป็น 44.44 % โดยราคามะม่วงหน้าสวนขณะนี้พบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอยู่ที่ 17 บาท/ก.ก. มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ 12 บาท/ก.ก. ฟ้าลั่น 5 บาท/ก.ก. โชคอนันต์ 6 บาท/ก.ก. มหาชนก 12 บาท/ก.ก. และอาร์ทูอีทู 25 บาท/ก.ก. เป็นต้น
พื้นที่ผลิตมะม่วงที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทยที่จะประสบปัญหา จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย น่าน ลำพูน และเชียงใหม่