พาณิชย์ เผยโควิด-น้ำมันลดลง ฉุดเงินเฟ้อมี.ค.ลดลง 0.54% หดตัวรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน คาดทั้งปีเงินเฟ้ออาจติดลบ 1%

โควิด-น้ำมัน ฉุดเงินเฟ้อวูบ – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ เดือนมี.ค. 2563 เท่ากับ 101.82 ลดลง 0.54% เมื่อเทียบกับปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการชะลอตัสของกลุ่มพลังงาน ที่ลดต่ำสุดในรอบ 48 เดือน ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง 11 ครั้ง ส่วนกลุ่มอาหารสด ขยายตัว 2.46% ต่ำสุดในรอบปี จากความต้องการที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ยังทรงตัวแต่ยังมีสินค้าบางรายการที่มีราคาสูงขึ้น เช่น มะนาว ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะภัยแล้ง และไข่ไก่ เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.41% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.53% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ติดลบถือเป็นเงินฝืดหรือไม่นั้น มองว่าไม่สำคัญเท่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมองว่าสถานการณ์แบบนี้อาจไม่ถือเป็นเงินฝืดได้ เพราะว่าไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นปกติ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จากเดิมระหว่าง 0.4-1.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% เป็นลบ 0.2 ถึง ลบ 1% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ลบ 0.6% แต่ทั้งนี้หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อมองว่ามีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อปี 2563 จะติดลบ 1% ซึ่งเป็นการติดลบต่ำสุดในประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอาจจะมีการทบทวนกรอบคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานกาณ์อีกครั้ง

สำหรับสมมติฐานประกอบการคาดการณ์เงินเฟ้อ ประกอบด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 4.8 ถึง -5.8% ด้านน้ำมันดิบดูไบทั้งปีคาด 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 35.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน