‘จุรินทร์’ ฟุ้งราคาปรับตัวดีขึ้นหลังกระตุ้นชาวนาเก็บสต๊อก สั่งจับตาข้าวถุงหวั่นปรับขึ้นช่วงโควิด-19

‘จุรินทร์’ ฟุ้งข้าวราคาพุ่ง – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดกระเตื้องขึ้นสูงเป็นลำดับ เพราะนอกจากจะเกิดจากมาตรการส่งเสริมให้ชาวนาเก็บสต๊อกข้าวไว้โดยได้รับเงินชดเชยแล้ว ตลาดต่างประเทศก็ยังมีต้องการเพิ่มสูงขึ้น เช่น ในตลาดญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาทางการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานสำหรับข้าวนาปรังขึ้นมาอยู่ที่ราคา 9,200-10,500 บาทต่อตัน ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ 14,000-15,300 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมประทุม อยู่ที่ราคา 10,000-10,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวอยู่ที่ราคา 15,600-17,500 บาทต่อตัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็ต้องติดตามราคาข้าวสารถุงสำหรับบริโภคและตัวเลขการส่งออกข้าวควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สถานการณ์ข้าวของประเทศในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับภัยโควิด-19 อยู่ในขณะนี้เกิดความสมดุลที่สุด

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากราคาข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งตกต่ำลงมา นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ก็ยังคงอยู่ และสามารถช่วยชดเชยเงินส่วนต่างของรายได้ให้กับชาวนาต่อได้ สำหรับการโอนจ่ายเงินส่วนต่างของงวดถัดไปคือ 8 เม.ย. 2563

ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น รัฐบาลดูแลชาวนาจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด 4.31 ล้านราย วงเงิน 20,940.84 ล้านบาท ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงไปแล้ว 22 งวด โอนแล้ว 984,539 ราย จำนวนเงิน 19,368 ล้านบาท คิดเป็น 92.4% ของงบประมาณทั้งหมด โดยงวดล่าสุดคืองวดที่ 22 ประกาศฯ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 โดยข้าวในภาคอื่นๆ สิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว คงเหลือภาคใต้ดังนี้ คือ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตันละ 14,200บาท ราคาสูงกว่าราคาเป้าหมาย ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตันละ 9,638 บาท ชดเชยส่วนต่างตันละ 361.84 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาตันละ 10,903 บาท ชดเชยส่วนต่างตันละ 96.54 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ราคาตันละ 16,833 บาท ราคาสูงกว่าราคาเป้าหมาย โดยงวดล่าสุดที่โอนคืองวดที่ 21 โอนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 เกษตรกรจำนวน 7,615 ราย วงเงิน 21.09 ล้านบาท และงวดที่ 22 คาดว่าจะโอนวันนี้ วันที่ 8 เม.ย. 2563 วงเงินประมาณ 8.60 ล้านบาท

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรีว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายโครงการเสริมคือชะลอการขายข้าวเปลือกของชาวนาออกไป จากเดิมสิ้นเดือนก.พ.เป็น สิ้นเดือนเม.ย. และสิ้นเดือนก.ค. สำหรับข้าวในภาคใต้โดยการเพิ่มยอดการชดเชยการชะลอขายข้าวจาก 1,000,000 ตันเป็น 1,500,000 ตันโดยชดเชยให้เกษตรกรที่เก็บสต๊อกข้าว ตันละ 1,500 บาท ส่วนสถาบันการเกษตร หรือสหกรณ์ จะชดเชยให้ตันละ 1,000 บาท และชดเชยให้เกษตรกรที่เก็บข้าวไว้กับสหกรณ์ตันละ 500 บาทด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มวงเงินจากเดิม 10,000 ล้านบาทเป็น 15,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน