กระทรวงพลังงาน เร่งผุดมาตรการอุ้ม 32 กลุ่มอุตสาหกรรมผลประกอบการวูบกว่า 70% แต่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

ก.พลังงานเร่งผุดมาตรการ – นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งรายละเอียดข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม 32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงกว่า 70% แต่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

โดยเบื้องต้นภาคเอกชนขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% (Demand Charge) แก่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3-7 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 จากเดิมที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเวลา 3 เดือน (เดือนมี.ค.-พ.ค. 2563) ส่วนความช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าภาคประชาชนขอให้หักเงินช่วยเหลือจากรายได้ของการไฟฟ้าแทนที่จะนำส่งกระทวงการคลัง อย่านำไปกระทบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในอนาคต และการคำนวนค่าเอฟทีขอให้ประเมินด้วยวิธีการคำนวณแบบเฉลี่ยการใช้ 3 เดือน และเทียบเป็นรายไตรมาสเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น

“เรื่องการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% ทางกกพ. ได้ดำเนินการแล้ว โดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบในสัปดาห์หน้า ส่วนในเรื่องค่าเอฟทีและเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ทางส.อ.ท. รายงานว่า 32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน แก้วและกระจก เซรามิค โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตร ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก หล่อโลหะ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สมุนไพร น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ก๊าซพลังงานหมุนเวียน หัตถกรรมสร้างสรรค์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน