กรมชลฯ วอนอย่าเพิ่งทำนาปี รอฝนมาชัวร์ก่อน 3 เขื่อน “ลำนางรอง-ลำแชะ-แม่กวง” น้ำยังน้อย ขอประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ

กรมชลฯ วอนอย่าเพิ่งทำนาปี – นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือน ระหว่าง พ.ค.-ต.ค. 2563 กรมชลประทานประเมินจะเกิดสถานการณ์ลานีญาอ่อนๆ หรือ ปริมาณฝนตกชุกในบางพื้นที่ แม้กรมอุตุนิยมวิทยา จะประเมินปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ 5% โดยคาดว่าตลอดฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำต้นทุนในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ปริมาณมากกว่าปีก่อนหน้า 3,500-5,000 ล้านลบ.ม.

คาดฝนปี 2563 จะคล้ายปี 2538 ที่มีฝนตกทางตอนบนค่อนข้างมาก กรมชลประทานได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตกในพื้นที่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ดังนี้ คือเดือนพ.ค. ปริมาณฝนปกติ เดือนมิ.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและตะวันตก ปริมาณฝนปกติ ภาคอีสานและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนต่ำกว่า ค่าปกติ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมาณฑล ฝนตกสูงกว่าค่าปกติ เดือนก.ค. ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติและหลังจากนั้นปริมาณฝนก็ต่ำกว่าค่าปกติไปจนถึงสูงกว่าค่าปกติกระจายในทุกภาค

ทั้งนี้ 1 พ.ย. 2563 จะมีเขื่อนเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย 31-50% จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนเก็บน้ำลำแชะ จ.นครราชสีมา และเขื่อนเก็บน้ำแม่กวง จ.เชียงใหม่ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีระดับน้ำต่ำว่าระดับควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) แต่คาดว่าเมื่อผ่านฤดูฝนนี้ไปเขื่อนอุบลรัตน์จะกลับมามีปริมาณน้ำกว่า 80% ของความจุเขื่อนฯ

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งทั้งปีแต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รวมถึงจากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ คาดว่าในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. จะมีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะช่วยให้คลี่คลายภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง แต่ประชาชนยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยหาภาชนะมาเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อาทิ ถังน้ำ และโอ่ง เป็นต้น”

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานขอความร่วมมือกับเกษตรกรที่เตรียมทำนาปี ให้รอกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการก่อนจึงค่อยทำการเพาะปลูก เพื่อการทำนาปี ประชาชนใช้น้ำฝน หรือน้ำที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองมาใช้ให้มากที่สุดเพื่อเก็บน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป มีเพียงในเขตชลประทานในบางพื้นที่ ได้แก่เขตที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน เขื่อนแม่กวง เขื่อนสิรินธร เป็นต้น ที่สามารถทำนาปีได้โดยไม่ต้องรอกรมอุตุฯ ประกาศเข้าฤดูฝน เพราะน้ำต้นทุนและฝนที่ตกลงมาเติมสามารถสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวได้เลย

สำหรับคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่าง ในช่วง 6 เดือนถึง 1 พ.ย. 2563 กรมชลประทานคาดการณ์จากแบบจำลองสถานการณ์น้ำ กรณีประกอบด้วย 1. น้ำมากกว่าค่าปกติ หรือค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 60,781 ล้านลบ.ม. หรือ 86% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 37,239 ล้านลบ.ม. หรือ 79% ของความจุ 2. น้ำใกล้เคียงค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 52,452 ล้านลบ.ม. หรือ 74% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 28,910 ล้านลบ.ม. หรือ 61% ของความจุ 3. น้ำน้อยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 36,794 ล้านลบ.ม. หรือ 52% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 13,252 ล้านลบ.ม. หรือ 28% ของความจุ 4. ปริมาณน้ำใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปี 2538 ค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 55,905 ล้านลบ.ม. หรือ 79% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 32,363 ล้านลบ.ม. หรือ 68% ของความจุ และ 5. ปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ตามที่อุตุฯ คาดการณ์ไว้ จะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 50,946 ล้านลบ.ม. หรือ 72% ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 27,403 ล้านลบ.ม. หรือ 58% ของความจุ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานในแต่ละโครงการ กรมชลประทาน ได้ร่วมกับ 38 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานประจำท้องถิ่นทั่วประเทศ และภาคประชาชน ซึ่งรูปแบบการทำงานของกรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อดูแลได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ส่วนในเรื่องของความกังวลเรื่องน้ำประปาขาดแคลนเหมือนในอดีต เชื่อว่าในปัจจุบันจะไม่ประสบปัญหาดังกล่าวอีก เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์น้ำขึ้นมาโดยมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลในแต่ละภาคส่วนแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน