ภัยแล้งปีนี้-อาการน่าเป็นห่วง

‘กรมชลฯ’เปิดไทม์ไลน์รอรับมือ

รายงานพิเศษ

ภัยแล้งปีนี้-อาการน่าเป็นห่วง – ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนเกือบลืมไปว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก

ก่อนหน้านายกรัฐมนตรีสั่งการให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนเพื่อพิจารณาการจัดทำแผนงานและโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทาน ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อดูแลได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ น้ำประปา ไม่ให้ปัญหาน้ำประปาขาดแคลนเกิดขึ้นซ้ำรอยอดีต

อย่างไรก็ตามด้วยปริมาณน้ำต้นทุนที่น้อยมากตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลให้ประมาณต้นปี 2563 น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีรสเค็ม รสกร่อยในบางพื้นที่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สิ้นสุดฤดูแล้ง 30 เม.ย.2563 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั่วประเทศรวมกันประมาณ 35,421 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ

มีน้ำใช้การได้ประมาณ 11,742 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,953 ล้าน ลบ.ม.

การบริหารจัดการน้ำ ประมาณ 17,053 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 96% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,595 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 102% ของแผนฯ ถือได้ว่าการใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้

ช่วง 6 เดือนจากนี้ระหว่างพ.ค.-ต.ค.2563 เป็นอีกช่วงที่กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำฝน น้ำท่า และน้ำต้นทุนที่มีอยู่เดิมให้สมดุล เมื่อถึงแล้งหน้า 1 พ.ย.2563-30 เม.ย.2564 จะได้ไม่มีปัญหากับน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ตลอดจนน้ำเพื่ออุตสาหกรรม

กรมชลประทานประเมินว่าจะเกิดสถานการณ์ลานีญาอ่อนๆ หรือปริมาณฝนตกชุกในบางพื้นที่ แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประเมินปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ 5% คาดว่าตลอดฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำต้นทุนในวันที่ 1 พ.ย.2563 มากกว่าปี 2562 ประมาณ 3,500-5,000 ล้าน ลบ.ม.

คาดว่าฝนปี 2563 จะคล้ายปี 2538 ที่มีฝนตกทางตอนบนค่อนข้างมาก

กรมชลประทานเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตกในพื้นที่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ดังนี้

เดือนพ.ค.ปริมาณฝนปกติ เดือนมิ.ย.ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและตะวันตก ปริมาณฝนปกติ ภาคอีสานและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนต่ำกว่าค่าปกติ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนตกสูงกว่าค่าปกติ

เดือนก.ค.ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ และหลังจากนั้นปริมาณฝนก็ต่ำกว่าค่าปกติไปจนถึงสูงกว่าค่าปกติกระจายในทุกภาค

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยจะประสบปัญหา ภัยแล้งทั้งปี แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รวมถึงจากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ คาดว่าในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. จะมีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะช่วยให้คลี่คลายภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง แต่ประชาชนยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยหาภาชนะมาเก็บกักน้ำฝน ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อาทิ ถังน้ำ และโอ่ง เป็นต้น”

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้งปี 2563/64 แบ่งเป็น 5 มาตรการ

1.การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี

2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง

3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบชลประทาน

4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ

และ 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย

แผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝนปี 2563 กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในการเพาะปลูกทั่วประเทศไว้ปริมาณ 31,351.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพาะปลูก 27.61 ล้านไร่

แบ่งเป็นการทำนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.54 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 10.29 ล้านไร่

ทั้งนี้ เป็นการใช้น้ำในการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา 11,664.94 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 10.57 ล้านไร่

แบ่งเป็นการทำนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.13 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 2.34 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 4,768.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 2.42 ล้านไร่ แบ่งเป็นการทำนาปี 0.90 ล้านไร่เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.22 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1.30 ล้านไร่

ข้อแนะนำในการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทาน แนะนำให้ปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. 2563 และเมื่อมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเติบโตของต้นข้าว

การเพาะปลูกในฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ควรใช้น้ำชลประทานเสริมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

โดยภาคเหนือ 17 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 5.13 ล้านไร่ รวมทุ่งบางระกำในที่ดอน

ภาคกลางและภาคตะวันตกจำนวน 16 จังหวัด คาดว่าจะทำนาปีประมาณ 5.86 ล้านไร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด คาดว่าจะทำนาปีประมาณ 3.48 ล้านไร่

และภาคตะวันออกจำนวน 8 จังหวัด คาดว่าจะทำนาปีประมาณ 1.34 ล้านไร่

ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจำนวน 8 จังหวัด คาดว่าจะทำนาปีประมาณ 0.96 ล้านไร่ ให้เริ่มปลูกข้าวได้ตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. 2563

ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจำนวน 6 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 0.03 ล้านไร่ แนะนำให้ปลูกข้าวไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 2563

อย่างไรก็ตามลุ่มเจ้าพระยาปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยไม่เพียงพอส่งน้ำให้ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 1.145 ล้านไร่ และโครงการบางระกำโมเดล ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายในเขตชลประทาน ในจังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย 2.65 แสนไร่

เมื่อต้นเดือนมี.ค. เริ่มประชาสัมพันธ์การเตรียมเพาะปลูกข้าวนาปี

15 มี.ค. เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน

1 เม.ย. เริ่มเพาะปลูกข้าว

31 ก.ค. สิ้นสุดการส่งน้ำ

1-15 ส.ค. เป็นช่วงที่ต้องเก็บเกี่ยวหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ

และระหว่าง 15 ส.ค.-31 ต.ค. เตรียมพื้นที่รองรับน้ำหลากปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.

ประเมินแล้วปีนี้น่าจะยากลำบากกับการบริหารจัดการน้ำอีกปี เพราะจำเป็นต้องทำนาเหลื่อมเวลาเหมือนปี 2562 โดยการทำนาปีให้เริ่มทำนาเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะมีฝนสม่ำเสมอ และมีน้ำในพื้นที่เพียงพอต่อการเตรียมแปลงปลูกข้าว เพื่อให้ใช้น้ำฝนในการทำนาปีเป็นหลัก

แต่น้ำในเขื่อนของกรมชลประทานจะเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง

นี่คือสิ่งที่กรมชลประทานส่งสัญญาณเตือนเกษตรกร…ให้พักก่อน

แถมตบท้ายด้วยว่าหากชาวนาทำตามคำแนะนำของกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อเกิดความเสียหายต่อข้าวในนา ทั้งจากฝนแล้งหรือน้ำท่วม ภาครัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามระเบียบของทางการให้ถ้วนหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน