สศช.เผยเศรษฐกิจไทย ประเดิมไตรมาส 1/2563 ทิ้งดิ่งเซ่นพิษโควิด ติดลบ 1.8% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่วนทั้งปีคาดติดลบ 6% อาจซึมยาวถ้าโควิดไม่จบในไตรมาส 2/2563 แจงงบกู้ 1 ล้านล้านบาทเหลือแค่ 1.9 แสนล้านไว้ใช้แจกเยียวยา

เศรษฐกิจไทยสาหัสติดลบ6% – นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง -1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยในด้านการใช้จ่าย โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก โดยไตรมาส 1/2563 ถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 ที่จีดีพี อยู่ที่ระดับ -0.4% หรือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงที่ลดลงต่ำสุดของปีนี้ เนื่องจากหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างหยุดชะงัก ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน การท่องเที่ยว ตลอดจนธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่วนตัวเลขจะลดลงอยู่ในระดับเท่าใดนั้น ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลง หลังจากที่ภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายให้กับภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นการประคองช่วยสถานการณ์เศรษฐกิจไว้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และเชื่อว่าประเทศไทยคงมีโอกาสน้อยที่จะมีการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดในรอบสอง เนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างเข้มแข็งและความร่วมมือของคนไทย

นายทศพร กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลง -6.0% ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปีจะอยู่ที่ -8.0% การบริโภคภาคเอกชน -1.7% และการลงทุนรวม -2.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่คาดว่าจะลดลง -6 ถึง -5% อยู่บนข้อสมมติฐาน คือ 1.เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะลดลง -2.8% ส่วนปริมาณการค้าโลกลดลง -10% 2. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 31.80-32.80 บาท/ดอลลาร์ 3.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 33-43 ดอลลาร์/บาร์เรล 4.ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ปีนี้คาดว่าจะลดลง -2.5% ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ปีนี้คาดว่าจะลดลง -1.5%

5.รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท ลดลงถึง 68.8% 6. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 63 ที่ราว 90% ของวงเงินงบประมาณ และมีการใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2563 ได้ราว 5.63 แสนล้านบาท

“มีการถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างไร ซึ่ง สศช.คาดว่าความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปตัวตัวยู (U) คือจะกลับฟื้นตัว แต่ก็มีตัวแปรสำคัญคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดของไทยไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรอบสอง, มาตรการผ่อนคลายจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3, และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส 4” นายทศพร กล่าว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ 1.ความไม่แน่นอนของการระบาดและความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศสำคัญๆ 2.ความพร้อมและความสามารถของภาคการผลิตในการกลับมาประกอบธุรกิจภายหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ 3.การผ่อนคลายมาตรการ การปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทสสำคัญ 4.ปัจจัยอื่นๆ เช่น การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพของประเทศที่สำคัญ

ส่วนปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มดีขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเงินการคลัง, การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ และมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ของภาครัฐที่มีต่อสถานประกอบการและภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ

นายทศพร กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับการประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง

สำหรับการใช้เงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า ในส่วนของงบประมาณที่ใช้เพื่อการเยียวยา 555,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ใช้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว 37 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางอีก 14 ล้านคน คงเหลืองบประมาณในส่วนนี้อีกราว 190,000 ล้านบาท ส่วนอีก 45,000 ล้านบาท เป็นงบที่ใช้สำหรับการพัฒนาด้านสาธารณสุขของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดยงบประมาณในส่วนของ 4 แสนล้านบาทนี้ จะเน้นลงทุนในส่วนของกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงส่งเสริมการกระตุ้นการบริโภคภายในครัวเรือนและเอกชน การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

“เงินก้อนนี้จะใช้เป็นเหมือนหัวเชื้อ (Seed money) เป็นเงินที่ลงไปเพื่อเพาะพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานความแข็งแกร่งของประเทศไปสู่ไบโออีโคโนมี เน้นความเป็นไทย Safe Zone ดึงนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามา และใช้เงินนี้สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศไทย คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้เริ่มต้นพิจารณาโครงการแล้ว คาดว่าจะลงสู่ภาคปฏิบัติตั้งแต่ ก.ค.เป็นต้นไป โดยเน้นความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม”

นายทศพร กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ได้คิดว่าจะกู้มาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพียงแค่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและประคองสถานการณ์เท่านั้น ส่วนงบที่เหลืออีก 190,000 แสนล้านบาท ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำไปใช้เยียวยาในโครงการอะไร นายทศพร กล่าวว่า ยังไม่มีรายละเอียด แต่ก็ต้องกันเงินไว้เพื่อเตรียมพร้อมโครงการที่จำเป็นในอนาคต

สำหรับการปรับประมาณการของ สศช.ในรอบนี้ ได้ตกลงกับกระทรวงการคลังแล้ว ว่าจะใช้ตัวเลขชุดเดียวกัน ซึ่งไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ ผลจากโควิด ทำให้ คลัง และ สศช. แหวกธรรมเนียมปฏิบัติการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจได้ ซึ่งเดิมคลังต้องแถลงตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 ในปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน