สรท. ยังคาดการณ์ส่งออกปี’63 ติดลบ 8% จับตาความขัดแย้งสหรัฐ-จีน-สถานการณ์โควิด-19 ระบาด แนะรัฐทยอยคลายล็อกดาวน์กระตุ้นเศรษฐกิจ – ดูแลค่าเงินบาท

ส่งออกปี’63ติดลบ8% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ส่งออกเดือนเม.ย. 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนเม.ย. 2563 มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -17.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนเม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนเม.ย. การส่งออกจึงหดตัว -7.53%

ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -5.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค.-เม.ย. การส่งออกหดตัว -0.96%

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า การส่งออกในเดือนเม.ย. กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปร อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารที่มีภาพรวมการขยายตัวได้ดี ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง 2. การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศ ทำให้ระบบการผลิต ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ ส่งผลให้การส่งออกสินค้า ขยายตัวในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็น และ 3. การส่งออกทองคำเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยดึงตัวเลขภาคการส่งออกให้มีการขยายตัวในช่วงสถานการณ์ความไม่นอนของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับผลจากกระบวนการดำเนินงานด้านเอกสารที่ล่าช้าเนื่องด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลงในช่วง work from home 2. ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น ตลอดเดือนพ.ค. 2563 อันเนื่องมาจากของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe heaven อีกครั้ง กอปรกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ กลายเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

3. ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงหนุนจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และ 4. ความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐและจีน จากการที่สหรัฐกล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด และมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง

ดังนั้น สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 2. เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่ Digital disruption ของภาครัฐ 3. สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึง เร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ อาทิ RCEP Thai-EU เป็นต้น 4. พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN and CLMV (CLMV is our home market) เนื่องจากเป็นตลาดที่ใกล้ชิด และสามารถขนส่งข้ามแดนได้โดยง่าย และสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างตลาดเป็นหนึ่งเดียว (Single market) และพัฒนาแผนการขนส่งข้ามแดนที่สามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง

5. ขอให้ภาครัฐพิจารณาส่งเสริมรายอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่เกี่ยวเนื่องในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก และ 6. เสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิจารณาปลดล็อกธุรกิจทั้งทางด้านการค้าและบริการ ในภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติมภายใต้การติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน