กระทรวงการคลัง เคาะตัวเลขตกหล่น เงินเยียวยา 9 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด ชงแจก 1,000-5,000 บาท 3 เดือน เริ่ม มิ.ย.นี้ ยืนยันเงินมีพอจ่าย

วันที่ 4 มิ.ย. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มี 10 ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโควิดรอบสุดท้าย ไม่เกิน 9 ล้านคน โดยจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เพื่อใช้เงินจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในส่วนเยียวยา 6 แสนล้านบาทภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเห็นชอบวงเงินที่จะใช้แจกต่อราย ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป และจะจ่ายเงินได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

“หาก ครม.เห็นชอบก็จะเริ่มโอนเงินเยียวยาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ก็จะโอนในส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย.ควบกัน 2 เดือน และไปแจกสุดท้ายในเดือนก.ค. ซึ่งการแจกเงินช่วยเหลือโควิด กลุ่ม 9 ล้านคนนี้ จะเป็นล็อตสุดท้ายที่จะโอนเงินช่วยเหลือ จากที่ผ่านมาได้ดูแลไปหมดทุกกลุ่มแล้ว” นายประสงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ใน 9 ล้านคนเป็นกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้านี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 2.4 ล้านคน แต่ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนสิทธิ์ เหลือแค่ 1.2 ล้านคน

2.กลุ่มผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน ไม่ถูกต้อง 1.7 ล้านคน พบข้อผิดพลาดเช่น ลงทะเบียนเพศ อายุ อาชีพไม่ถูกต้อง ตรวจสอบสิทธิ์ความซ้ำซ้อนแล้วเหลือ 3 แสนคน

3.กลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.สัปดาห์ก่อน 13 ล้านคน ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ซ้ำซ้อนแล้วเหลือ 6.9-7 ล้านคน และ

4.กลุ่มประกันสังคม อีก 6.6 หมื่นคน ที่ตกงานแต่ยังจ่ายรายเดือนค่าประกันสังคมยังไม่ครบ 6 เดือน จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิ์ประกันสังคม

นายประสงค์ กล่าวว่า การช่วยเหลือจะจ่ายเงินให้ 3 เดือนเหมือนกันหมด แต่ผู้ได้รับเงินเยียวยาในแต่ละกลุ่มจะได้ไม่เท่ากัน เช่น กลุ่มประกันสังคมจะได้ 5,000 บาท 3 เดือน และกลุ่มเปราะบาง ผ่าน ครม. ให้ความช่วยเหลือ 1,000 บาท 3 เดือน ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรคนจน และกลุ่มตกหล่นเราไม่ทิ้งกัน 3 แสนราย ต้องรอผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ และงบประมาณที่ใช้ ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองอีกครั้ง ซึ่งคลังยืนยันว่าเงินมีพอจ่าย ถ้าเงินไม่พอ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็สามารถกู้เงินตามอำนาจพ.ร.ก.เพิ่มเพื่อมาจ่ายได้

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คลังได้รวบรวมข้อมูลผู้มาร้องทุกข์ ไม่ได้รับเงินเยียวยา วันที่ 1 มิ.ย.2563 โดยมีผู้ร้องทุกข์เข้าระบบแล้ว 1 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว 34,805 คน เกษตรกร 12,496 คน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (6เดือน) 1,483 คน จึงเหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือตกหล่น 6,472 คน ซี่งกลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาในรอบสุดท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน