‘ภาครัฐ-เอกชน’ผนึกกำลัง ต่อลมหายใจ‘เอสเอ็มอี’ไทย

ต่อลมหายใจ‘เอสเอ็มอี’ไทย แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะขับเคลื่อนด้วยกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่มีประมาณ 2,000 ราย

แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยที่มีราวๆ 3 ล้านราย ประมาณ 98% ของธุรกิจทั้งหมด ถือว่ามีบทบาทสำคัญในหลายๆ ภาคส่วน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (ไมโครเอสเอ็มอี) ประมาณ 2.6 ล้านราย คิดเป็น 86% จากเอสเอ็มอีทั้งหมด ครอบคลุมการผลิต การค้า และบริการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการจ้างงานประมาณ 70% ของทั้งระบบ

เอสเอ็มอีจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้ายรายได้ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่

เวลานี้เอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านราย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 กระทบแรงงานกว่า 4 ล้านคนตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้กว่า 2 เดือนแล้ว เอสเอ็มอีบางรายยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าจากการติดตามการดำเนินโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อเอสเอ็มอีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มาก่อนยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ

ต่อลมหายใจ‘เอสเอ็มอี’ไทย

สุพันธุ์ มงคลสุธี

ส.อ.ท.จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยด้านการเงินโดยขยายวงเงินค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 80% จากปัจจุบัน 40%

สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี

ขอให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในการจัดตั้ง Private Equity Trust ภายใต้กำกับของ กลต. โดยเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมที่มีปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้

มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี 3 ปี ทุกธุรกิจ (ปีภาษี 2563-65) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน

ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในปี 2563 โดยไม่จำกัดเพดาน ปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1% เฉพาะปี 2563

มาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน ขอให้ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 2563 ขอให้ยกเลิกการคิดไฟฟ้าตามเกณฑ์การใช้กระแสไฟฟ้าขั้นต่ำจนถึงสิ้นปี 2563 โดยคิดเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง

ขอให้พิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ด้วย เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจช่วงวิกฤต ชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป 1 ปี

มาตรการช่วยเหลือด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงานขอลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน

ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (Work Permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน

ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดย ขอให้รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังมีการผลิตอยู่บางส่วน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยข้อเท็จจริงในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ว่าเอสเอ็มอีต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากที่สุด เพราะมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากการหดตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการสินค้าของผู้บริโภค

ต่อลมหายใจ‘เอสเอ็มอี’ไทย

เกรียงไกร เธียรนุกูล

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงต้องการเงินก่อน แต่พอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็เข้าใจว่ามีหลักเกณฑ์กติกาตามที่ ธปท.กำกับไว้ จึงต้องใช้เวลากว่าจะได้สินเชื่อมาต่อลมหายใจให้ธุรกิจก็สายเกินไป เอสเอ็มอีจะเลิกกิจการไปในที่สุด

ส.อ.ท.หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและส่งเสริมภาคการผลิตและส่งออก ทั้งขนาดใหญ่และเล็กเป็นกลไกพิเศษเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้รวดเร็วทันเวลาตรงประเด็นในยามที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งอาจต้องข้ามกฎเกณฑ์บางเรื่องที่สถาบันการเงินใช้พิจารณา

ไม่ใช่ช่วยเหลือตอนที่เอสเอ็มอีหมดลมหายใจแล้ว

กองทุนดังกล่าวจะเป็นลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเงินประเดิม 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจนำเงินมาจากงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 400,000 ล้านบาท ภายใต้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมประสานขอหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ถึงความเป็นไปได้ในการใช้เงินส่วนนี้โดยเร็วที่สุด ก่อนจะถึงกำหนดเสนอโครงการฟื้นฟูในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

นายเกรียงไกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.จะเสนอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการลงทุนผลิตในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าให้มากที่สุดในทุกอุตสาหกรรม โดยให้รัฐประชาสัมพันธ์และปรับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างให้มีความยืดหยุ่นสนับสนุนสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ

โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้สินค้าไทยที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้เอสเอ็มอีไทยเป็นรากฐานสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

ส่วนภาครัฐโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โยนโจทย์ให้กระทรวงการคลังทำแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้นจากที่เคยทำมา

เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนของรัฐบาล ที่รู้อยู่แก่ใจว่าธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ปัจจุบันกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน กำลังสู้กับ ‘โควิด-19’ ด้วยมือเปล่า สายป่านไม่ยาว เงินทุนเริ่มหมดหน้าตัก

โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก เช่น ภาคท่องเที่ยวและบริการที่กระทบอย่างหนัก รายได้หายวับอย่างน้อย 3 เดือนสอดคล้องกับทิศทางรายงานภาวะสังคม ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า ในปี 2563 มีความเสี่ยงตกงานกว่า 8.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นภาคท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน และภาคบริการ 4.4 ล้านคน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ล่าสุดจากธปท. 5.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น3.52 หมื่นราย จากธนาคารออมสิน 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 9,150 ราย และที่ธนาคารออมสินปล่อยเองอีก 4,000 ล้านบาท 625 ราย

รวมกับสินเชื่อเพิ่มของสถาบันการเงินอื่นโดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 31,000 ล้านบาท คิดเป็น 38,825 ราย

ต่อลมหายใจ‘เอสเอ็มอี’ไทย

อุตตม สาวนายน

รวมลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อแล้ว 8.4 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 148,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอียังไม่ทั่วถึงเพราะติดเงื่อนไขต่างๆ

มีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของรัฐบาลอยู่ราว 1.5 ล้านราย

จึงเป็นที่มาของมาตรการอุ้มเอสเอ็มอีระลอกใหม่ ที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ

เน้นกลุ่มคนตัวเล็กๆ เอสเอ็มอี ที่มีความเปราะบาง เพื่อให้แผนการดูแลเอสเอ็มอีครอบคลุมมากขึ้น

ก่อนที่เอสเอ็มอีรายเล็ก-รายย่อย จะล้มหายตายไปไปมากกว่านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน