ต่อลมหายใจ‘ท่องเที่ยวไทย’ รัฐออก‘แพ็กเกจ-เงิน’กระตุ้น : รายงานพิเศษ

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปี 2563 รัฐบาลตั้งความหวังไว้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะเป็นกลจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ เพราะเสาหลักอื่นๆ ย่ำแย่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคส่งออก หรือการบริโภคในประเทศ

แต่ทุกอย่างต้องพังทลายเมื่อเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

ชาวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเมืองไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

หลังจากไวรัสระบาดเข้าเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นมา

รัฐบาลเร่งป้องกันการระบาด โดยขอความร่วมมือให้ทุกคน หยุดอยู่บ้าน โดยการเยียวยากลุ่มที่ขาดรายได้จากการออกไปทำมาหากินไม่ได้ ธุรกิจต่างๆ หยุดการผลิต เพราะไม่มีคนซื้อ

โรงงานต่างๆ ประกาศปิดกิจการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีแรงงานการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน ที่อยู่ในธุรกิจโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร รถรับจ้าง ไกด์ สายการบิน เป็นต้น และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตายสนิท

กระทบโดยตรงกับบรรยากาศการท่องเที่ยว กระทบ หนักมากในเดือน เม.ย.-พ.ค. ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาในไทยแม้แต่คนเดียว

เดือนม.ค.-พ.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 6.69 ล้านคน ลดลง 59.97% หรือลดลง 10.02 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 59.57% หรือลดลง 4.89 แสนล้านบาท

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย ในเดือนม.ค.-พ.ค. มีจำนวน 40.15 ล้านคน ลดลง 58.19% หรือลดลง 55.88 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้ของ นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีประมาณ 1.91 แสนล้านบาท ลดลง 57.86% หรือลดลง 2.63 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ล่าสุด 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เห็นชอบในหลักการ เปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่ เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุม การระบาดของโควิด-19 ได้ (Travel Bubble) ในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้

เริ่มที่กลุ่มนักธุรกิจและ ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตามเวลานัดของหมอ โดย 2 กลุ่มนี้ต้องมีใบรับรองแพทย์โควิด-19 อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง และระหว่างอยู่ในไทยต้องสามารถติดตามตัวได้

รายงานพิเศษ

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลัง ศบค.เห็นชอบในหลักการ ให้เปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ทั้ง 4 กระทรวงคือ กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย จะหารือถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อ นำรายละเอียดและวิธีปฏิบัติเสนอศบค.ชุดเล็กในวันพุธที่ 17 มิ.ย.นี้

“การดำเนินการเพื่อ Travel Bubble คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ประมาณ 1 ก.ค. ใช้เวลาทดลอง 1 เดือนหลัง โดยไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน จากนั้น 1 เดือนหากไม่มีปัญหาจะเปิดกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่จะทำ Travel Bubble คือกลุ่มไฮเอนด์ มาเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างชาติมีความนิยม คือ ภูเก็ต สมุย กระบี่ พะงัน เป็นต้น เพื่อให้สามารถเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้ในเดือนส.ค.”

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมนำเสนอ 3 มาตรการ กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งวางกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2563 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 16 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณา เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม

ประกอบด้วย บริษัททัวร์ หรือบริษัทนำเที่ยว กลุ่มโรงแรม ที่พัก และกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ

กำหนดการช่วยเหลือผ่าน 3 แพ็กเกจ คือ

1.แพ็กเกจกำลังใจเพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงาน แนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านวงเงินประมาณ 2,400 ล้านบาท

2.แพ็กเกจเราไปเที่ยวกัน เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือโรงแรม และที่พักที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นระบบ ร่วมกันจ่ายหรือ co-payment เป้าหมายห้องพัก 5 ล้านห้อง เบื้องต้นรัฐบาลจะช่วยจ่าย 40% หรือ เที่ยวได้ไม่เกิน 5 วันต่อคน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

และ 3.โครงการเที่ยวปันสุข เพื่อช่วยเหลือสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการคล้ายกับโครงการที่ 2 แพ็กเกจเราไปเที่ยวกัน แต่จะใช้เงินสำหรับซื้อตั๋วเครื่องบินเป็นโครงการ co-payment ระหว่างนักท่องเที่ยวและรัฐบาล

โดยผู้ใช้บริการออกค่าตั๋ว 60% รัฐบาลให้ส่วนลด 40%

รายงานพิเศษ

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

ด้าน นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมโรงแรม ที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยทำโครงการ co-payment รัฐบาลช่วยค่าห้อง 40% หรือ 3,000 บาทต่อคน

เป็นนโยบายที่ช่วยต่อลมหายใจ ให้ธุรกิจโรงแรม ให้มีค่าจ้างพนักงาน ให้มีเงินหมุนเวียนบ้าง ถือเป็นเงินเยียวยาที่จะให้โรงแรมสามารถยืดอายุไปได้จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วน นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การตัดสินใจเปิดประเทศเดือนก.ค. จะทำให้เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รัฐบาลปรับลดลงจาก 40 ล้านคน มาอยู่ที่ 14-16 ล้านคนก็เป็นไปได้ จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 6 ล้านกว่าคนที่ เข้ามาตอนต้นปี

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนตลอดปีนี้ อาจจะได้ 4 ล้านคน จากที่มีอยู่แล้ว 1.2 ล้านคนที่เข้ามาตอนต้นปี

“หากรัฐบาลเริ่มพิจารณาเปิดประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในเดือนก.ค.2563 ซึ่งการเริ่มขยับในเดือนก.ค. จะเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะเป็นช่วงที่ทั่วโลกไม่พร้อม แต่ประเทศไทยพร้อม หากรอไปนานกว่านี้จะช้าไป”

รายงานพิเศษ

วิชิต ประกอบโกศล

นายวิชิตกล่าว และว่าตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศก็จะไม่ไหวแล้ว การเลือกเปิดและเริ่มต้นจับคู่กับประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว เช่น จีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ลาว เป็นต้น

ด้านกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ประเมินรายได้ จากการท่องเที่ยวรวมทั้งปี 2563 จะเป็น 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาท จากปี 2562 มีรายได้รวม 3.01 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.79 ล้านคน รายได้ 1.93 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 166.84 ล้านคน/ครั้ง รายได้ 1.08 ล้านล้านบาท

รัฐบาลพยายามผลักดันเงินเข้าสู่ระบบ หวังฟื้นชีวิตให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกือบ 6 เดือน กับการระบาดของโควิด-19 แม้หลายจังหวัดเริ่มผ่อนคลาย ด้านการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ส่วนใหญ่มากกว่า 80% เป็นคนในพื้นที่

มาตรการที่กำลังจะออกมา ต้องทำให้เป็น ‘สึนามิ’ สร้างคลื่นขนาดใหญ่ เพื่อฉุดการท่องเที่ยวไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้ภายในครึ่งปีหลัง พิพัฒน์ รัชกิจประการ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ วิชิต ประกอบโกศล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน