นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่นำร่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และไม่มีสภาพบังคับ ตลอดแนวถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี เพื่อเป็นไปตามนโยบายที่จะจัดระเบียบความเรียบร้อยของสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้า รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ที่สวยงามของกรุงเทพมหานคร

ที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว โดยการดำเนินโครงการนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้หารือร่วมกับ กสทช. เพื่อดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้มีการประสานงานกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด ที่จะร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งทุกฝ่ายให้เห็นร่วมกันว่าให้ทีโอทีสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ ทั้งประสบการณ์และมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เสาโทรคมนาคม สายสื่อสารโทรคมนาคม และท่อร้อยสายใต้ดิน มาตอบสนองการดำเนินโครงการนี้ได้ทันที

“ทีโอที มีการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในแนวถนนหลัก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร และยังสามารถให้ผู้ประการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลทุกรายมาใช้ท่อร้อยสายของ ทีโอที ได้ทันที โดยไม่ต้องขุด เจาะ หรือก่อสร้างเปิดหน้างานเพิ่มเติมอีก และในอนาคตทาง กระทรวงดีอีเอส จะได้ขยายผลการดำเนินการในลักษณะนี้ในเส้นทางอื่นของกรุงเทพฯต่อไป”

อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ครั้งนี้มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช., นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที พร้อมด้วยผู้บริหาร มาร่วมลงพื้นที่นำร่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเส้นทางที่ กฟน.ไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า ไม่มีสภาพบังคับ ที่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท-ถนนเพชรบุรี รวมสองฝั่ง 3.4 กิโลเมตร

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า สำหรับเงินสนับสนุนค่าเช่าท่อร้อยสายนั้นจะมีการนำเสนอคณะกรรมการ เพื่อนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มาสนับสนุน 50% เพื่อแบ่งเบาภาระให้เอกชนที่ต้องนำสายที่เคยพาดบนเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่จะไม่ช่วยค่าเช่าสำหรับสายโทรคมนาคมเส้นใหม่ อย่าง สาย 5G เพราะเป็นต้นทุนที่เอกชนต้องคำนวนไว้อยู่แล้วตอนที่ประมูลคลื่น พร้อมกันนี้ได้ข้อสรุปให้ทีโอที ดำเนินการในพื้นที่ที่พร้อมให้บริการได้ทันที คือ 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ตามที่ทีโอทีเสนอว่าพร้อมดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน