‘วิทัย รัตนากร’โชววิสัยทัศน์
ดัน‘ออมสิน’ธนาคารเพื่อสังคม

‘วิทัย รัตนากร’โชววิสัยทัศน์ ดัน‘ออมสิน’ธนาคารเพื่อสังคม – ขึ้นแท่นบิ๊ก‘ธนาคารออมสิน’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 ‘วิทัย รัตนากร’ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ ในยุคที่ท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยเฉพาะบทบาทธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องเข้าถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

ทิศทางของธนาคารออมสินจากนี้จะเป็นอย่างไร บอสคนใหม่แจงทุกข้อสงสัย ในงานเปิดวิสัยทัศน์ต่อสื่อมวลชน

ก้าวต่อไปของออมสิน

ธนาคารออมสินจะปรับตัวเป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ หรือ ‘Social Bank’ ต้องเป็นธนาคารที่ช่วยคนจน ช่วยชุมชน ช่วยฐานราก ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ ต้องดำเนินการให้เกิดผลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่ผ่านมามีการระบาดโควิดทำให้คนไม่มีรายได้จำนวนมาก แต่ไม่มีรายได้ 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน คนอยู่ไม่ได้ต้องกลับต่างจังหวัด เห็นความเหลื่อมปัญหาทางสังคม สูงมาก ธนาคารออมสินจะเข้ามาช่วยประชาชนในตรงนี้

“ธนาคารออมสินจะปรับ position ของธนาคาร หมุนจากที่ธนาคารเพื่อการพาณิชย์รายย่อยเป็นหลัก มาเป็นธนาคารเพื่อสังคมช่วยคนจนฐานรากเป็นหลัก เน้นให้เกิดผลจริง ทำจริง ปล่อยสินเชื่อได้มาก”

การที่ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมจะทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะธนาคารออมสินช่วยคน ช่วยสังคม ช่วยประเทศชาติ ก็จะเกิดความยั่งยืนภายนอก ส่วนภายในธนาคารก็มีเรื่องต้องทำให้เกิดความยั่งยืน งบการเงินของธนาคารต้องแข็งแรง ทำให้องค์กรแข็งแรง ซึ่งผมจะใช้เวลา 6 เดือนแรกปรับองค์กรทั้งธนาคารให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม

ทิศทางสร้างภาพลักษณ์

ไม่ยึดว่าต้องมีสินทรัพย์ สินเชื่อ เงินฝาก มากเป็นอันดับที่เท่าไร ไม่เน้นใหญ่โต ธนาคารจะเน้นเรื่องความแข็งแรง เรื่องคุณภาพ ธนาคารอาจจะต้องหดตัว เล็กตัว หรือต้องไม่โตบ้าง แต่มีสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งนี่เป็นทิศทางของธนาคารที่จะเดินต่อไป

นอกจากนี้ งบเรื่องการประชาสัมพันธ์ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนของกิจกรรมบันเทิง กีฬา ดนตรี อะไรที่เกินความจำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของธนาคารจะตัดออกและเลือกทำเท่าที่จำเป็น เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยลูกค้า ไปสร้างฐานราก สร้างพ่อค้าแม่ค้าให้แข็งแรง

ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมาอาจนำมาทบทวน ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ลูกค้ากลุ่มบัตรเครดิต อาจปรับเงื่อนไขขอสินเชื่อสินเชื่อบัตรเครดิต ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีศักยภาพ ไม่ได้ลงไปเล่นรายย่อยมาเหมือนธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องกลับมาสู่จุดสมดุล

การรับมือโควิด-19 ระยะสั้น

ที่ผ่านมาธนาคารดูแลกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ และจะดูแลต่อไป มีการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ช่วยลูกค้า 3.1 ล้านราย มูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งพักชำระหนี้มาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2563

ธนาคารจะขยายเวลาการพักชำระหนี้ให้ต่อถึงสิ้นเดือนธ.ค.2563 ซึ่งจะประกาศออกมาเป็นทางการ โดยครั้งนี้จะให้ลูกค้ามีทางเลือกจะพักหรือไม่พักการชำระหนี้ก็ได้

หากเลือกพักชำระหนี้ต่อจะมีทางเลือกให้ว่าพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะจ่ายดอกเบี้ยพักชำระเงินต้น โดยธนาคารจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าการเลือกแต่ละแนวทาง มีผลกระทบกับตัวลูกค้าจะเป็นอย่างไร

ลูกค้ามีสิทธิเลือกว่าหนี้ที่พักชำระไว้จะไปงวดสุดท้ายหรือทยอยจ่ายอย่างไร ต้องมาทำสัญญากันใหม่ ลูกค้าของธนาคารออมสินเป็นกลุ่มเปราะบางจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน มีมาตรการสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยรายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท และไม่เกิน 5 หมื่นบาท ปล่อย ไปแล้ว 1.15 ล้านราย วงเงิน 1.42 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้ยังทยอยปล่อยอยู่ตามที่ลูกค้าลงทะเบียนขอ เข้ามา

ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมวงเงินเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินเพิ่มเติมเร็วๆ นี้

ด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ปล่อยไปแล้วประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ทั้งให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยต่อ ปล่อยให้นอนแบงก์ และปล่อยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว

ตอนนี้ทางธนาคารออมสินได้เสนอกระทรวงการคลังไปแล้วให้มีการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนอีก 1 แสนล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ

‘MyMo’ในยุคต่อไป

ต้องปรับช่องทางบริการ ‘MyMo’ โดยให้ความสำคัญกับระบบดิจิตอลต้องเป็นช่องทางหลักของการบริหารลูกค้า ภายในสิ้นปี 2563 ต้องสามารถปรับโครงสร้างหนี้ เลื่อนชำระหนี้ได้ ปล่อยสินเชื่อได้ ปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันได้ และเปิดบัญชีผ่าน MyMo ไม่จำเป็นต้องมาที่สาขาของธนาคาร

ตอบโจทย์การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลได้ ไม่ว่ารัฐบาลต้องการช่วยคน 2-3 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องมาสาขา สามารถทำรายการต่างๆ ผ่าน MyMo ได้เลย ทำให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้นในการให้บริการลูกค้าของธนาคารออมสิน

โดยการขยายเวลาการชำระหนี้ในเดือนก.ย.นี้ต้องทำผ่าน MyMo ได้ และอีก 6 เดือน ต้องขอสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันผ่าน MyMo ได้

ปลดแอกดอกเบี้ยนอนแบงก์

ธนาคารจะเน้นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย พ่อค้าแม่ค้า ลูกค้าของธนาคารกว่า 60% เป็นฐานราก เป็นผู้มีรายได้น้อย มีปัญหาหนี้สินสูง

ทั้งหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยสูง 10-20% ต่อเดือน ยังมีหนี้ในระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงอีก เช่น นอนแบงก์ 20-28% ต่อปี ฟิโก นาโน 36% ต่อปี

เราเห็นปัญหาว่าเป็นดอกเบี้ยที่มีกำไรสูงเกินไป ธนาคารออมสินจะเข้าไปลุยในตลาดนอนแบงก์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด เป็นภารกิจของธนาคารออมสิน

“ภายใน 6 เดือนจะแทรกเข้าไปในตลาดนอนแบงก์ ที่มีมูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท ต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลงเหลือ 8-10% จะเริ่มทยอยเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารออมสินเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนนี้ออกมา หวังว่าเมื่อธนาคารออมสินเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อจากนอนแบงก์ จะทำให้ดอกเบี้ยทั้งระบบของนอนแบงก์ไหลต่ำลง ในที่สุด จะช่วยคนได้จำนวนมหาศาล”

แก้ไขหนี้ครู-ข้าราชการ

กำลังหารือกับกระทรวงศึกษาฯ อยู่ร่วมกันแก้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้โดยใช้รายได้ปกติของข้าราชการที่มีอยู่

ต้องหาเงินอื่น เช่น เงินบำนาญ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับ เบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด มาปรับโครงสร้างหนี้และลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ภายใน 6 เดือนจะเห็นผล

ปัจจุบันหนี้ข้าราชการมีอยู่ 5.77 แสนล้านบาท จำนวน 1.11 ล้านราย เป็นหนี้ข้าราชการ 30% หนี้ครู 62% ตำรวจ 5% และทหาร 3%

ผลประกอบการปี 2563

ขณะนี้ธนาคารมีสินทรัพย์ 2.89 ล้านล้านบาท มีสินเชื่อ 2.2 ล้านล้านบาท กำไรครึ่งปีแรกลดลงมา 5,229 ล้านบาท เป็นไปตามเจตนาของธนาคารที่ลดกำไร เพื่อช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการลดดอกเบี้ยมาตรการต่าง และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสิ้นปี 2563 จะมีกำไรกลับมาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปี 2562 ที่กำไร 2.42 หมื่นล้านบาท และปี 2561 กำไร 2.42 หมื่นล้านบาท

ธนาคารยังมีความสามารถทำกำไร แต่ลดกำไรลง ส่งเงินกลับไปให้กับประชาชนตามที่ควรเป็นหน้าที่ของแบงก์รัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน