หอการค้าเผยส่งออกปีนี้ติดลบหนักสุดรอบ 10 ปี อาจติดลบสูงถึง 13.5% แนะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล เร่งสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนฝ่าวิกฤตโควิด-19

ส่งออกปีนี้ติดลบหนัก – นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผล “การวิเคราะห์การส่งออกไทยครึ่งปีหลังปี 2563 : ไร้วัคซีนโควิด-19” ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสมมติฐานหากสถานการณ์โลกมีการผลิตวัคซีนโควิดได้ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ การส่งออกไทยในปี 2563 จะหดตัวลงที่ 5.5% และ ถ้าสามารถผลิตวัคซีนได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหดตัวประมาณ 9.6% แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีน จะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปี อาจติดลบสูงถึง 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่หายไปประมาณ 7 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าส่งออกในกลุ่ม รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบหนักที่สุดในรอบ 10 ปี

ส่วนการส่งออกไทยในครึ่งปีแรกหดตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเดือนมิ.ย. หดตัวถึง 23.1% แต่ก็ยังมีสินค้าบางส่วนที่ยังสามารถขยายตัวได้ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, อากาศยานและชิ้นส่วน, เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลไม้และข้าว

“ศูนย์ฯ ประเมินการส่งออกของประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะทรุดตัวลงมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรกและมีโอกาสติดลบมากสุดถึง 20% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโอกาสของการมีวัคซีนเร็วที่สุดอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเพราะมีโอกาสที่จะต่ำลงได้อีก” นายอัทธ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีโอกาสยืดเยื้อ ทำให้ในหลายประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการมาตราการล็อกดาวน์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ยังเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงทิศทางความสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยหดตัวอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางส่วนยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี อาทิ ถุงมือยาง จากความต้องการที่เพิ่มหลายเท่าตัวในสถานการณ์โควิด รวมถึงกลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะหดตัวลงไม่ต่ำกว่า 7.7% ซึ่งเศรษฐกิจไทยถือว่าได้รับผลกระทบและติดลบมากที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้ แนะนำผู้ประกอบการควรปรับตัว ด้วยการสร้างธุรกิจผ่านระบบออนไลน์, รวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อลดภาระต้นทุน และปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัยส่วนภาครัฐ และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล ควรเร่งสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและประชาชนผ่านมาตรการยกเว้นภาษี เช่น ภาษีรายได้ และการกระตุ้นการบริโภคให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวล่าสุดของรัฐบาล สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้แค่บางกลุ่มเท่านั้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนยังคงระมัดระวังด้านการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน