เงินเฟ้อดือนก.ค.ติดลบ 0.98% แต่เป็นการติดลบในอัตราที่ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อาหารสดขยายตัวในรอบ 3 เดือน การเปิดภาคเรียน มาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟของรัฐบาลสิ้นสุดลง คาดเงินเฟ้อทั้งปี -1.1% ยืนยันยังไม่เข้าเกณฑ์เงินฝืด

เงินเฟ้อก.ค.ติดลบ 0.98% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ เดือนก.ค.เท่ากับ 101.99 ลดลง 0.98% ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. ที่อยู่ที่ติดลบ 1.57% สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อเริ่มกลับมาเป็นปกติ เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.39% และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลง 1.11% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.34%

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นมาจากจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งการเปิดภาคเรียนใหม่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งการเกิดโรคระบาดสุกรในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความต้องการสุกรในประเทศเพิ่มขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ประปา ได้สิ้นสุดลง และ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะในหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนส.ค. 2563 จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการรัฐที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ทำให้เงินเฟ้อเดือนส.ค. 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม, ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์, ดัชนีราคาผู้ผลิต, ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญของการที่เงินเฟ้อเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อกันเกิน 3 เดือน แต่ก็ยังไม่ครบหลักเกณฑ์ของเงินฝืดทั้งหมด เนื่องจากราคาสินค้าหลายตัวราคาสูงมากกว่าราคาสินค้าที่ลดลง โดยทั้งปีเงินเฟ้อก็จะอยู่ในแดนลบ”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.98% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.87% โดยการขนส่งและการสื่อสาร ลด 5.12% กลุ่มพลังงาน ลด 10.91% เคหสถาน ลด 0.06% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.04% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.21% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.02% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.55% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 5.17% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.43% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.63% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.57% นอกบ้าน เพิ่ม 0.71% แต่ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ ราคาลดลง

ทั้งนี้ ในเดือนก.ค. 2563 มีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 210 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ซี่โครงหมู ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำอัดลม และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง 75 รายการ และลดลง 137 รายการ เช่น น้ำมัน ทั้งเบนซิน และดีเซล ก๊าซหุงต้ม ส้มเขียวหวาน พริกสด และเงาะ มะม่วง

อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจไว้วางใจได้และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ -1.5% ถึง -0.7% (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน