นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกไก่ใน 6 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 4.7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 2% มูลค่าประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1,000 ล้านบาท จากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ ตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น มีการนำเข้าน้อยลง โดยเฉพาะอียู สั่งซื้อไก่จากไทยลดลง 10% ตลอดทั้งปี 2563 คาดว่าไทยจะส่งออกในตลาดนี้ได้ เฉพาะปริมาณในโควตา คือ 2.8 แสนตันเท่านั้น จากเดิมที่ส่งออกได้ กว่า 3.3 แสนตัน

ด้านตลาดญี่ปุ่น การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น เนื่องจากโควิดทำให้การท่องเที่ยวลดลงเหลือ 0% และ การจัดโอลิมปิก ถูกเลื่อนออกไป ทำให้การสั่งซื้อไก่ลดลง เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคของประชากรในประเทศเท่านั้น รวมทั้งยังต่อรองให้ไทยลดราคาลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ตลาดจีน เพิ่มขึ้น ประมาณ 1 แสนตัน และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2 หมื่นตัน สามารถชดเชยกันได้ ในส่วนของจีน แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เนื่องจากคำสั่งซื้อเฉพาะปีก และตีนไก่เท่านั้น ทำให้ไทยไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ ส่วนหนึ่งเพราจะทำให้เนื้อส่วนอื่นล้นตลาด ปัจจุบันเนื้อน่าอกไม่สามารถส่งไปตลาดอียูได้ ต้องนำออกมาจำหน่ายตลาดในประเทศ ทำให้ราคาปรับตัวลดลง

ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังไม่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยลบยังเป็นการระบาดของโควิด ที่ในอียูยังไม่คลี่คลาย ร้านอาหารต่างๆ ยังไม่เปิดให้บริการ ประกอบกับอียู ไม่มีบริการส่งของถึงบ้านอย่างแพร่หลายทำให้การบริโภคภายในยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังคงเป้าการส่งออกไก่เนื้อทั้งปี 2563 ที่ 9.8 แสนตัน โดยต้องดูสถานการณ์โควิดในอียูเป็นหลัก

“เป้าที่กำหนดน่าจะเฉียดๆ ไม่รู้จะถึงหรือไม่ ปัจจัยมาจากโควิดเท่านั้น ถ้าอียูคุมได้ สถานการณ์จะดีขึ้น ตอนนี้เราพยายามเปิดตลาดเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพราะหมูแพง อาจจะหันมากินไก่กัน ส่วนตลาดในประเทศ อิ่มตัวแล้ว เพิ่มมากกว่านี้ไม่ได้ ความหวังว่าการส่งออกจะแรงขึ้นจากการการประกาศใช้วัคซีนป้องกันโควิดเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เร่งปรับแผนการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยปรับลดกำลังการผลิตลงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่วนต้นทุนการผลิตยังเพิ่มขึ้นไม่มาก จากราคาวัตถุดิบข้าวโพด ยังอยู่ที่ 8.50 บาทต่อก.ก. ถั่วเหลืองราคายังทรงตัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน