ทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 2/2 ลั่นถ้าคนไทยไม่ช่วย ปล่อยระบาดโควิดรอบ 2 อาจต้องกู้มาเพิ่ม เพราะ 1 ล้านล้านบาทไม่พอใช้ ยันไม่มีถังแตก โยน ศบศ.กุมบังเหียน เคาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ส.ค.นี้

ทีมศก.ลั่นโควิดรอบ2อาจกู้เพิ่ม – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มอบนโยบายในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการคลัง สำนักงานาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบาย 5 เรื่อง คือ 1. การดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน 2. เตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นมาตรการยั่งยืนไม่ใช่การเยียวยาโดยตรง

3. หาแนวทางในการจูงใจให้ภาคธุรกิจธุรกิจต่างๆ จ้างงาน 4. เน้นเรื่องการจ้างแรงงานจากนักศึกษาจบใหม่ สู่ตลาดแรงงาน และ 5. ทำงานอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูภาพรวม อุปสรรค ดูในเชิงปฏิบัติให้เหมาะสม ตรงเป้าตรงจุดให้เหมาะสมกับคนที่ควรจะได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งศูนย์บริหารเศรษฐกิจ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในการดูแล 5 แนวทางที่กล่าวมา เชื่อว่าคือวิธีการทำงานที่จะรวดเร็วขึ้น มีการบูรณาการข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น และเป็นการทำงานร่วมมือกัน ไม่แยกหน่วยงาน ไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐ ไม่แยกเอกชน เราจะได้ทางเลือก หรือทางออกที่ดี มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง สอดคล้องความไม่แน่นอน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น จึงดำริเรื่องรวมไทยสร้างชาติขึ้นมา

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเห็นมาตรการชัดเจนภายในเดือนส.ค.นี้ ภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีอยู่ใช้ไปก่อน และหากจำเป็นต้องเพิ่มเติมจริงๆ ก็ต้องเพิ่ม เช่น ถ้าเกิดระบาดโควิด-19 รอบ 2 เป็นภาวการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ คนในประเทศไม่ร่วมมือกัน เงินอาจจะไม่พอก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าควบคุมการระบาดได้ดี วัคซีนมาเร็ว เชื่อมั่นสูงขึ้น เงินที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะมั่นใจสูง ลงทุน บริโภค ใช้จ่ายมากขึ้น ทุกคนเลิกประหยัด เลิกกลัวที่จะต้องเก็บเงินไว้

“วันนี้ยังอยู่ภายใต้กรอบการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะดำเนินการภายใต้สถานการณ์ หากระบาดรอบ 2 ต้องปิดเมืองอีกครั้ง ถ้าต้องเพิ่มการกู้เงินกู้ต้องเพิ่ม หนี้สาธารณะวันนี้อยู่ระดับ 40% กว่าของจีดีพี รัฐบาลไม่มีนโยบายตั้งเป้าว่าหนี้จะต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ตั้งเป้าต้องรักษาควบคุมการระบาดให้ดี แล้วเราจะใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและดีที่สุด”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวติดลบ 12.2% เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกที่ มากน้อยแค่นั้นเอง และประเทศไทยมีสัดส่วนของจีดีพีเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออกสูง ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่ และยังมีประเทศอื่นที่แย่กว่าไทยก็มี เราต้องเชื่อมั่น การที่ติดลบ 12.2% คิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป ถ้าการระบาดที่เราร่วมมือกันไม่ได้ดีอย่างนี้ ควบคุมการระบาดไม่เรียบร้อย ก็อาจจะแย่กว่านี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย หลายประเทศเปิดประเทศ ไม่ควบคุมเหมือนไทย เศรษฐกิจก็แย่กว่า

นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง กล่าวว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจ การทำมาตรการต่างๆ อยู่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่นายกฯ เป็นผู้ดูแล บทบาทของคลังในอดีตจะถูกเปลี่ยนไปบ้าง คลังมีเรื่องตัวเงินที่ต้องเข้าไปซับพอร์ต เรื่องวินัยการเงินการคลัง บทบาทเปลี่ยนชัดเจน จะมีข้อมูล มาตรการออกมาจาก ศบศ.

สำหรับความท้าทายระยะสั้น เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงหมด ถ้าจีดีพีไทยถูกกระทบมากที่สุดก็ต้องยอมรับว่ามันมากที่สุด เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว ส่งออก ปัญหาเกิดจากคนเดินทางไม่ได้ ไทยก็ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นเหตุและผล ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับที่เดิม 1-2 ปีเป็นความคาดหวัง เป็นกำลังใจ ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ เราจะแก้ปัญหากัน 1-2 เดือน หรือแก้ปัญหาจนถึงวัคซีนมา บางเรื่องยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะมีเหตุและผลของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 7.45 แสนคน หรือ 2% ของกำลังแรงงาน และคาดว่ามีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอที่จะกลับไปทำ รวมทั้งเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด ทั้งงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ พ.ร.ก. กู้เงิน ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ในช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณจำกัด การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า

“ผมมานั่งคลัง ผมจะไม่ตอบอะไรที่มันไม่มีความชัดเจน เพราะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะพอเป็นหนี้ ถามต่อไป หนี้ต้องใช้คืน เพราะฉะนั้นเป็นหนี้ต้องมีการคืน ก็โยงกลับไปสู่แหล่งรายได้ แต่ถ้าถามความจำเป็นต้องเป็นหนี้ไหม รัฐบาลเป็นแน่นอน รู้ว่าทุกคนมีความคาดหวังเมื่อมีคนใหม่เข้ามาทำงานจะก่อให้เกิดสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง”

นายปรีดี กล่าวว่า จากนี้ดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม พัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน กำกับดูแลแบงก์รัฐให้ดำเนินการตามพันธกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย

รมว.คลัง กล่าวว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนั้น ขออย่าพูดว่าถังแตก อย่าไปคิดแบบนั้น การบริหารงบประมาณ จัดการรายจ่าย รายได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง เป็นฤดูกาล ต้องบริหารจัดการเป็นเรื่องปกติ การพูดว่าถังแตกไม่มีความหมายที่ดี และไม่ใช่เรื่องที่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน