นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ เดลต้า แองเจิล ฟันด์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 วงเงินสนับสนุนรวมประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งปีนี้มีสตาร์ตอัพได้รับงบสนับสนุน 30 ทีม จากผู้สมัคร 152 ทีม

“ปีนี้คาดว่าจะขยายผลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 60 ล้านบาท หลังจาก 4 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ออกสู่ตลาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 450 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 500 ราย”นายสุริยะกล่าว

สำหรับ 4 ตัวอย่างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้ออัตโนมัติด้วยรังสียูวีซี โรบอทฆ่าเชื้อระดับดีเอ็นเอ แบบ 360 องศา โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง แพลตฟอร์มชาร์จ อีวี คาร์ รายแรกของไทย หนุนผู้ใช้รถสะดวกชาร์จ เช็คสถานะผ่านแอพพลิเคชั่นหุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด หนุนแพทย์ผ่าตัดแม่นยำ ประหยัดเวลา ประสิทธิภาพสูง และเครื่องตัดอ้อยสดช่วยลดพีเอ็ม 2.5 มาพร้อมระบบสางใบ ลดการเผาอ้อยสด คืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย

สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในพื้นที่รอยต่อจ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และจ.เพชรบูรณ์ ฟ้องรัฐบาลไทยกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งยังเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) ว่า เรื่องนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการไต่สวน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังคาดหวังที่จะใช้แนวทางเจรจาเพื่อหาข้อยุติก่อนที่อนุญาโตฯจะมีคำตัดสินออกมา

ส่วนความคืบหน้าการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา และกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดสารทดแทนนั้น ขณะนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ตนเป็นประธาน มีกำหนดการเรียกประชุมเดือนก.ย.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวและวาระอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน