รายงานเศรษฐกิจ : สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’หาข้อสรุปเข้าร่วม‘UPOV1991’

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’ : เมื่อเร็วๆนี้ ‘ข่าวสด’ มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพไม้ดอกไม้ประดับ (พิกัดศุลกากร 06) และพืชผัก (พิกัดศุลกากร 07) ของไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

นำโดย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราช ดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกลูกผสม พืชกลุ่มปทุมมาและกลุ่มกระเจียว

ทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 3 ของเอเชีย (รองจากจีน และมาเลเซีย) และอันดับที่ 11 ของโลก เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่มอีก

เนื่องจากข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มี สภาพภูมิอากาศที่ดี รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน ประกอบกับปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ของไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ ที่มีความสวยงามออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’

‘ปทุมมา’เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ส่งออกสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ละปีตลาดต่างประเทศต้องการปทุมมาจากไทยมูลค่า 200 ล้านบาท และความต้องการก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะในต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวปทุมมาถือว่าเป็นไม้ดอกที่ความสวยงาม แปลกตา

ที่สำคัญคือทนทานหากนำไปปักแจกันสามารถบานสวยงามอยู่ได้นานถึง 5-7 วัน

ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์จำนวน 8 หมื่นบาท ให้นายพิศิษฐ์ วรอุไร หัวหน้าศูนย์คนแรกในปี 2523 นำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่บ้านไร่ อ.หางดง

ในปีแรกใช้เงินไปเพียง 4 หมื่นบาท จึงได้พระราชทานทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 3 แสนบาท และได้รับงบประมาณด้านงานวิจัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ แม้ไม่มากนักแต่ก็ครอบคลุมส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 10 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’

พืชที่เกษตรกรนำไปปลูกมากที่สุดคือปทุมมา

ในฐานะที่เป็นนักวิจัยที่ร่วมกันกับนักวิจัย เจ้าหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจนได้มาลูกผสมพืชกลุ่มปทุมมา และกระเจียวมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ ซีเอ็มยูมณีสยาม ซีเอ็มยูสวีท โรซี่ รอยัลไทยโกลเด้น เรน รอยัลไทยมาเจสตี้ โคโรเนชั่น ซีเอ็มยู ลานนา เจม เป็นต้น

แม้ว่าไทยจะสามารถปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกต่างๆ ได้หลากหลายแต่หากไม่มีการคุ้มครองพันธุ์พืชในระดับสากล อาจทำให้พันธุ์พืชของไทยโดนละเมิดจากต่างชาติ

ดังนั้นเมื่อเราทุ่มเทใช้เวลาทำมาหลายปี แต่จู่ๆ ต่างประเทศมาเจอแล้วหยิบไปทำขายเราก็รักษาสิทธิ์ไม่ได้ นี่คือความสำคัญว่าทำไมไทยจึงควรร่วมภาคีในอนุสัญญายูพอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants:UPOV1991) ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)

แต่ทุกครั้งที่มีการหยิบยกเรื่องการร่วมยูพอฟ กลับถูกมองว่าเป็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง การคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้ยูพอฟฯ จะครอบคลุมเฉพาะพืชพันธุ์ใหม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพืชป่า พืชพื้นเมือง ย้ำว่ายูพอฟจะดูแลเฉพาะพันธุ์ใหม่เท่านั้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจะก้าวสู่สากลเราต้องให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมยูพอฟ และย้ำว่าการผูกขาดพันธุ์พืชเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ใช่พันธุ์ของเขาจะไปผูกขาดได้อย่างไร เจ้าของพันธุ์จะมีสิทธิ์เฉพาะพันธุ์ของตัวเองและหากใครจะใช้พันธุ์ของเขาก็ต้องซื้อ

ด้านความเห็นของเกษตรกร โดย นางเรณู สวัสดี เกษตรในเครือค่ายผู้ปลูกกระเจียวและปทุมมา กล่าวว่า เริ่มปลูกดอกปทุมมาและกระเจียวเมื่อปี 2541 ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น 50 ไร่ มากกว่า 30 สายพันธุ์ ทั้งขายในประเทศและส่งออก

นางลำพู เมฆคะนอง วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปทุมมาบ้านหนองออน ต. อินทขิล อ.แม่แตง จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า เริ่มเรียนรู้เรื่องปลูกปทุมมาเมื่อปี 2537 และในปี 2540 ได้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก เริ่มจากการส่งออกหัวพันธุ์ปทุมมาเพียง 500 ก.ก.ประมาณ 12,500 หัว ไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์

ในปี 2543 หันมาส่งออกแบบเต็มตัวซึ่งปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 12 ตัน หรือประมาณ 3 หมื่นหัว โดยผลิตและส่งออกปทุมมาสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งพันธุ์เดิม และสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านหัวต่อปี

ปัจจุบันส่งออกปทุมมาทั้งดอกไม้สดและหัวพันธุ์ไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในเอเชียและยุโรปภายใต้ ชื่อ บริษัท ลำพู เอ็กซ์พอร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด

นอกจากนี้คณะของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง โดยหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมพืช ขึ้นทะเบียนพันธุ์หลายชนิด เช่น แตงกวา 8 สายพันธุ์ และพันธุ์ลูกผสม 5 พันธุ์ ซึ่งมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง

รวมทั้งขึ้นทะเบียนพันธุ์ฟักทอง ‘โอโตะ’ ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 5 ปี จนได้ฟักทองที่มีขนาดผลละ 3-4 ก.ก. เปลือกบาง ผิวผลขรุขระ เนื้อหนาสีเหลืองเข้ม นำไปนึ่งให้สุกเนื้อฟักทองมีรสชาติหวาน ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย และยังมีความทนทานต่อโรคราแป้งอีกด้วย

เมื่อทีมวิจัยนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ลพบุรี สุรินทร์ และลำปาง ปรากฏว่าได้ผลผลิต 3-5 ตันต่อไร่ หลังพัฒนาสายพันธุ์เป็นผลสำเร็จ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อดังกล่าว

โดย ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของพันธุ์พืช ได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์ของนักวิจัยในประเทศไทยเท่านั้น

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’

จานุลักษณ์ ขนบดี

ขณะที่ยูพอฟ เป้าหมายหลักคือใช้เพื่อคุ้มครองพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ในระดับสากลหรือทั่วโลก ส่วนพันธุ์พื้นบ้านที่เกษตรกรใช้เองมาตั้งแต่บรรพบุรุษกฎหมายของยูพอฟฯไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

ที่กลัวว่าหากมียูปอพ มาเกี่ยวข้องเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น ทุกวันนี้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและเกษตรกรใช้ประโยชน์เพื่อการค้าก็เป็น ราคาที่เกษตรกรจ่ายได้อยู่แล้วและไม่เกิน 10% ของต้นทุนทาง การเกษตร

เมื่อซื้อมาปลูกเกษตรกรก็ทราบดีว่าจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาใช้ใหม่อีกไม่ได้เกษตรกรทราบดีในเงื่อนไขนี้

“เราอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงหรือกลัวสิ่งใดหากเรายังไม่รู้จริง ก่อนเราจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกเราต้องรู้ทั้งหมดว่า หากเราไปเกี่ยวข้องกับเขาแล้วประเทศไทยได้ประโยชน์ในระยะยาว ระยะสั้นอย่างไร ต้องมีผู้รู้ร่วมคิดพิจารณา”

สำรวจศักยภาพ‘พันธุ์พืชไทย’

หากเราไม่ร่วมเราจะมีผลอย่างไรเพราะที่ผ่านมาเรามีรายได้จากการส่งออกสินค้า เราต้องทำให้สินค้าที่เราส่งออกไปมีความเท่าเทียมกับต่างประเทศเพราะเรามีนักวิจัยที่พร้อมวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะเสียเปรียบ แต่ต้องรู้เท่าทันและอยากให้เชิญกลุ่มที่คัดค้านหรือไม่เข้าใจในจุดไหนมารับฟังเพื่อให้ได้ข้อยุติ

เรื่องการเข้าร่วม ‘ยูพอฟ’ ทั้งฝ่ายหนุนและค้านต่างยืนอยู่คนละมุม ท้ายที่สุดแล้วต้องหาบทสรุป ข้อดี-ข้อเสีย และทำความเข้าใจอย่างสิ้นสงสัยว่าประเทศไทยควรเข้าร่วมหรือไม่

วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน