นายธนา ภูโชคอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า อมาโด้ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพบนอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ด้วยแนวคิดสู่ความสำเร็จในด้านความรวดเร็ว ถูกต้องและตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหลักของอมาโด้ในการทำการตลาดอี-คอมเมิร์ซ ปัจจุบันสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยยังไม่ถึง 10% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก จึงมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก การรุกทำตลาดได้ก่อนถือเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ นับเป็นโอกาสของธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและใหญ่ โดยล่าสุดได้เดินหน้ากลยุทธ์บุกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ชั้นนำ อาทิ Lazada, Jd Central, Shopee และ Line Thailand เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้เข้าถึงและสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุค นิว นอร์มอล (New normal) พร้อมเพิ่มฐานลูกค้า รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลายโดยเฉพาะการผ่อนชำระสินค้า
“จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเร่งอัตราการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ด้วยจุดเด่นด้านความสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านในสถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้ทดลองการสั่งสินค้าออนไลน์และใช้งานจนเกิดความคุ้นชิน มากไปกว่านั้นยังเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นับว่าเป็นผลบวกในการเติบโตของช่องทางอี-คอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจของ Priceza ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 220,000 ล้านบาท ในปี 2563 เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 35% จากปีก่อน โดยพบว่าช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลส เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้ในการซื้อของออนไลน์ในสัดส่วนมากขึ้น จากปี 2561 อยู่ที่ 35% เติบโตมาเป็นสัดส่วนมากถึง 47% ในปี 2562 โดยอันดับสินค้าขายดีพบว่า สินค้าสุขภาพและความงามโตนำมาเป็นอันดับที่ 1 เติบโตขึ้น 34% โดยเป็นผลสำรวจในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ม.ค.-ก.พ.) เทียบกับช่วงเกิดโควิด-19 (มี.ค.-เม.ย.)” นายธนากล่าว
นายธนากล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านโซเชี่ยล คอมเมิร์ซ แม้จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 38% จากปีที่ผ่านมา แต่มองว่ายังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากการเติบโตในกลุ่มโซเชี่ยล คอมเมิร์ซ เป็นการเติบโตในลักษณะผสมผสานกันในแต่ละแพลตฟอร์ม หรือการเติบโตแนวนอนมากกว่าการเติบโตในแพลตฟอร์มของตัวเอง ผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์จำกัดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่นิยมใช้แพลตฟอร์มออนไลน์หลายๆ แพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรวมตัวกันหรือใช้ประโยชน์ร่วมกันของในแต่ละแพลตฟอร์มจะช่วยให้เกิดการเติบโตรวดเร็ว เนื่องจากสามารถเข้าไปตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ แม้อมาโด้จะเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่าน อี-มาร์เก็ตเพลส เพื่อสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภค แต่โซเชี่ยล คอมเมิร์ซ ของอมาโด้และดีลเลอร์ผู้จัดจำหน่ายยังคงเป็นช่องทางหลัก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมาเติบโต 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงพบการเข้าถึงต่อเนื่องไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลง ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความคุ้นเคยในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ รวมถึงปัจจัยด้านความสะดวกในการชำระเงิน ซึ่งในส่วนของอมาโด้ลูกค้านิยมชำระเงินด้วยการเก็บเงินปลายทาง เนื่องจากความปลอดภัย สร้างความสบายใจให้แก่ผู้บริโภคในการสั่งซื้อ ทำให้สัดส่วนรายได้จากด้านโซเชี่ยล คอมเมิร์ซของบริษัทฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 16% จากยอดขาย และผ่านช่องทางออนไลน์ของดีลเลอร์บิ้วตี้ของบริษัทอยู่ที่ 60% ของยอดขาย
สำหรับเป้าหมายรายได้จากช่องทางออนไลน์ของบริษัทฯ ในปีนี้หลังจากปรับเป้าหมายครึ่งปีตั้งเป้าไว้ที่ 450 ล้านบาท โดยเติบโตขึ้นกว่า 400% จากปีที่แล้ว ที่มียอดขายอยู่ที่ 110 ล้านบาท เล็งเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส Lazada, Jd Central, Shopee และ Line thailand อย่างต่อเนื่อง