‘สุพัฒนพงษ์’ ควงธปท.-นายแบงก์เอกชน/รัฐ แก้หนี้ 7 ล้านล้านบาท – มั่นใจช่วยเหลือลูกหนี้ จากโควิด 4.55 ล้านล้าน ชี้ลูกหนี้ยังมีความสามารถชำระหนี้

ช่วยกันแก้หนี้7ล้านล. – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือก ทางรอด ประเทศไทย” ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกันควบคุมรักษาวินัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ระบาด เป็นจุดแข็งของประเทศไทยซึ่งจะนำไปสู่ทางรอดในการฝ่าวิกฤตหนี้ครั้งนี้ โดยส่วนตัวประเมินว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 ปี หรือปี 2564 นี้

“เพราะเชื่อว่าปัญหาการระบาดของโควิด-19 ต้องมีวันสิ้นสุด ทุกอย่างน่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เหมือนปัญหาหนี้สินก็ต้องมีวันจบเช่นกัน ซึ่งล่าสุดมีหนี้ที่ได้รับการพักชำระในระบบรวมแล้วกว่า 7 ล้านล้านบาท จากลูกหนี้รวมทั้งหมดราว 12.8 ล้านคน ดังนั้นต้องติดตามและสร้างความเชื่อ ความหวังว่าภายใน 1-2 ปี ไทยน่าจะปกติ ถ้าตั้งสมมติฐานแบบนี้ การแก้ปัญหาหนี้ที่เคยคิดว่าแก้ไม่ได้ ก็จะทำได้ ตามระดับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ถึง 6 ระดับแล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนจากการจับจ่ายใช้สอยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา”

โดยขณะนี้ ธปท. และสถาบันการเงินต่างๆ เตรียมความพร้อมในการปรับโครงสร้างหนี้ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 4/2563 ประกอบกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งทุกมาตรการมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในลักษณะการร่วมจ่าย หรือ โค เพย์ (Co-pay) เช่น โครงการคนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ ช็อปช่วยชาติ มากกว่าที่จะให้เงินอย่างเดียว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่หลายคนเรียกว่า “มหาวิกฤต” ในครั้งนี้ แต่ความจริงคือปี 2540 ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่เผชิญมหาวิกฤตนั้นยากกว่าครั้งนี้ดังนั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่ผมทำอยู่จะพยายามเต็มที่และทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตแบบนั้นขึ้นได้

“เรายังเรียกว่าความไม่แน่นอน จึงต้องสะสมความหวังและความเชื่อ ถ้าเราอยู่กับความกลัว เราอยู่กับที่จะแก้ปัญหาหนี้ไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการเยียวยา ให้สภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราวยอดเงินรวมเกือบ 8 แสนล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมกว่า 33 ล้านคน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “รวมพลังปรับโครงสร้างหนี้” ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤติ “หนี้” ว่า ธอส. มีหนี้เสียจากมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 9 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 8.5% จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2563 ธอส. มีหนี้เสียอยู่ที่ 4.05% คิดเป็นมูลหนี้ 5.15 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อคงค้างที่ 1.27 ล้านล้านบาท ขณะที่สินเชื่อปัจจุบัน อยู่ที่ 1.49 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้เสียจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ วงเงิน 9 พันล้านบาท แบ่งเป็น แบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท จากกลุ่มที่ชำระหนี้ไม่เต็มงวด โดยหลังจากนี้ธนาคารจะเข้าไปดูประวัติ และปรับสัญญาเงินกู้ให้ เพราะยังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดชำระหนี้ โดยได้มอบหมายให้สาขาเร่งเข้าไปติดตามลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เพราะลูกค้าอาจจะเคยชินกับมาตรการพักหนี้ จึงยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้

“เดิมที ธอส. คาดว่าจะมีหนี้เสียจากมาตรการพักชำระหนี้ ประมาณ 25% แต่ผลออกมาว่าเรามีหนี้เสียเพิ่มขึ้นแค่ 9 พันล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก โดยมองว่าหนี้เสียในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่กลายเป็นปัญหาทั้งหมด หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้เสียในส่วนนี้ลดลงได้” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ 10 มาตรการ ซึ่งมีลูกค้าอยู่ในมาตรการดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 5.87 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 5.76 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้มาตรการต่างๆ ก็ทยอยครบกำหนดไปแล้ว ขณะเดียวกัน หากธนาคารสามารถเจรจาและช่วยเหลือลูกหนี้ที่ครบกำหนดเวลาการพักชำระหนี้ต่างๆ ได้ ก็จะทำให้หนี้เสียที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ลดน้อยลงได้

อย่างไรก็ดี มองว่า ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนหนึ่งก็จะกลับมาเป็นลูกหนี้สถานะปกติ และอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป โดย ธอส. จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ 10 มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่มีมาตรการอื่นเข้ามาเสริมอีก เพราะเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาแล้ว จะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างครบถ้วนแล้ว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้น่ากลัว แต่เมื่อดูในรายละเอียดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะสถานการณ์เอ็นพีแอล ที่ผ่านมา บสย. มีบทบาทในการเข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤตหนี้ ผ่านโครงการต่างๆ โดยล่าสุด คือ โครงการ บสย. เอสเอ็มอีสร้างไทย ที่จะรับค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี กลุ่มที่มีปัญหาค้างชำระกับธนาคาร เพื่อให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ มีวงเงินการอนุมัติค้ำประกัน 5 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเป็นเอสเอ็มอี จำนวน 2 หมื่นกว่าราย คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 5.4 หมื่นล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ 5.3 แสนราย

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 จำนวน 4.55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 31% ของสินเชื่อรวม โดยในส่วนของธนาคารกสิกร ประเมินว่ากว่า 80% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ยังมีความสามารถที่จะทยอยชำระหนี้ได้ ตรงนี้เป็นส่วนที่ช่วยเสริมความมั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถพาลูกค้าฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ไปได้

“โชคดีที่ระบบสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง มีทุนสูง มีสภาพคล่องจำนวนมาก ตรงนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ส่วนลูกหนี้ในกลุ่มที่คาดว่าจะมีปัญหาหลังมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ธนาคารจะเร่งเข้าไปติดต่อให้ความช่วยเหลือโดยด่วน” นายสุรัตน์ กล่าว

นายศิริเดช เอื้องอุดมศิล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ สาหัสกว่าปี 2540 ผลกระทบเยอะกว่า เพราะการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก และยังเป็นสถานการณ์ระยะยาว ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาจึงแตกต่างจากช่วงวิกฤตปี 2540 เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินไทยมีสภาพคล่องจำนวนมาก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับบทบาทจากการควบคุม และกำกับดูแล มาเป็นการผ่อนปรนในหลายๆ หลักเกณฑ์ ทำให้มองว่าวิกฤตในครั้งนี้แม้ปัญหาจะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่จะควบคุมได้

โดยมองว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินในปีนี้ไม่น่าเพิ่มสูงขึ้นมาก จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-4% จึงไม่น่าเป็นประเด็นที่ต้องวิตกเหมือนปี 2540 แต่ในปี 2564 เชื่อว่าตัวเลขเอ็นอีแอลจะขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในวิสัยที่สถาบันการเงินจะควบคุม บริหารจัดการได้

“มีลูกค้าของธนาคารจำนวนมากที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และมีกว่า 70% ของลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการขอสละสิทธิ์รับความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความต้องการที่จะพักชำระหนี้ เพราะธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็มีหลายรายที่ไปต่อไม่ไหว ก็เข้ามาตรการช่วยเหลือไป ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะมีปัญหาก็มีน้อยมาก ตรงนี้ธนาคารก็จะดูแล เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าต่อไป” นายศิริเดช กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน