นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ว่า คาดว่า ภายใน 2-3 เดือน ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงได้การภายในปีนี้ เบื้องต้นญี่ปุ่นคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในเฟสที่ 1 ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดยญี่ปุ่นมองว่าการลงทุนที่สูงในช่วงแรกจะทำให้ต้นทุนค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาในระยะยาวต่ำ ซึ่งเป็นวิธีการคิดของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงาน คาดว่าในปี 2561 จะเริ่มออกแบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกได้ เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 และสามารถเปิดให้บริการในปี 2565 โดยตลอดจะประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย ส่วนอัตราค่าโดยสารจะมีอัตราใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

นายอาคมกล่าวถึงผลตอบแทนโครงการว่าหากมีการรวมผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในเชิงกว้างด้วยแล้ว จะมีผลตอแทนรวมอยู่ที่ 14.7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ตัวเลขดังกล่าวต้องมีการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบสถานีควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นฝ่ายไทยจึงขอให้ญี่ปุ่นศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบเปรียบเทียบกับตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นด้วยว่า เส้นทางดังกล่าวมีโอกาสการพัฒนาเมืองมากน้อยแค่ไหน และจะทำให้ผลตอบแทนโครงการเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ผลการยังศึกษาชี้ว่า การลงทุนโครงการเป็นไปได้หลายรูปแบบ ได้แก่ รัฐบาลลงทุนทั้งหมด, เอกชนลงทุนทั้งหมด, รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนลงทุนระบบรางและเดินรถ, รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและราง ส่วนเอกชนเดินรถอย่างเดียว

“ฝ่ายไทยต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมและเสนอให้ ครม. พิจารณาพร้อมการขออนุมัติโครงการ โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผลตอบแทนและภาระทางการเงิน แต่ถ้าโครงการมีผลตอบแทนในระดับ 14.7% ก็ถือว่าสูง ภาครัฐหรือเอกชนจะลงทุนเองก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความสามารถในการรับความเสี่ยงเรื่องผู้โดยสาร”
โดยตอนนี้ฝ่ายไทยยังไม่ได้เชิญให้ญี่ปุ่นร่วมทุนอย่างเป็นทางการ แต่ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นก็แสดงความสนใจ ด้านตัวรถและอาณัติสัญญาณจะใช้ระบบชิงกันเซ็งอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น

นายอาคมกล่าวต่อถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 1.79 แสนล้านบาทว่า สำหรับการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก สถานีกลางดง-ปางอโศก ต้องรอความชัดเจน 2 เรื่องคือการอบรมและทดสอบสถาปนิกจีน ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 22 ก.ย. นี้ จากนั้นฝ่ายจีนจะส่งแบบช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกให้ฝ่ายไทย รวมทั้งต้องรอให้ เส้นทางช่วงบ้านภาชี-จ. นครราชสีมา ผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงจะเริ่มก่อสร้างได้

“จะเริ่มก่อสร้างได้หรือไม่ ก็ขั้นอยู่กับขั้นตอนการจัดทำอีไอเอจะต้องผ่านให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งขณะนี้เป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 6 แล้ว ซึ่ง ถ้าอีไอเอยังไม่ผ่านภายในเดือน ต.ค. ก็อาจจะทำให้เริ่มก่อสร้างไม่ได้ตามเป้า โดยการก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป เป็นเดือนพ.ย. ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในขั้นตอนของอีไอเอ”นายอาคมกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน