จับสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส3ดีขึ้น-ธนาคารโลกแนะกระตุ้นเพิ่ม : รายงานเศรษฐกิจ
สิ้นสุดไตรมาส 3 ย่างเข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่เหนื่อยหนักทั้งเศรษฐกิจโลก และประเทศไทย
สาเหตุสำคัญไม่พ้น ‘โควิด-19’ ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งโลก ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี เริ่มมีสัญญาณขยับตัวดีขึ้นบ้าง จากภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้องขึ้น
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รายงานอัพเดตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนต.ค.2563 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ภูมิภาคนี้การขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเติบโตขึ้นเพียง 0.9% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510
ที่เติบโตสุดคือ จีนคาดว่าจะเติบโต 2% ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงโดยเฉลี่ย -3.5%
ส่วนไทยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ -8.3% และกรณีแย่สุด คือ -10.4% และในปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ 4.9%
“ประเทศไทยคุมระบาดของโควิด-19 ได้ดี ในส่วนมาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ประชาชนครัวเรือน”
นางเบอร์กิทกล่าวและว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหาสมดุลในการดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว เพราะตอนนี้การลงทุนลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมายังไม่เพียงพอ ถึงจะมีวงเงิน 8-13% ของจีดีพี แต่ปฏิบัติได้จริงมีเงินช่วยเหลือออกไปแค่ 4% ของจีดีพีเท่านั้น
ขณะเดียวกันธนาคารโลกคาดว่า รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นออกมาอีก เพราะมาตรการแจกเงิน 3,000 บาท มองว่ายังไม่เพียงพอ สำหรับการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มองว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังไม่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยได้ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่
จึงมองว่ารัฐบาลต้องพยายามหาสมดุลระหว่างนโยบายด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ถือเป็นความเสี่ยง ขณะที่ระยะยาวมาตรการนี้ที่ส่งผล กระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจได้อีกนานแค่เท่าใด

จับสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส3ดีขึ้น-ธนาคารโลกแนะกระตุ้นเพิ่ม : รายงานเศรษฐกิจ

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เลวร้ายมีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 จะทำให้จีดีพีไทยปี 2563 ขยายตัวติดลบถึง 10.4% เพราะจะกระทบการส่งออกและ การท่องเที่ยว
ขณะที่ภาคการเงินมีปัญหาทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวเหมือนเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงยังต้องเผชิญกับการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลกระทบกับรายได้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563
รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนมีการระบาดของโควิด-19

จับสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส3ดีขึ้น-ธนาคารโลกแนะกระตุ้นเพิ่ม : รายงานเศรษฐกิจ

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล

ด้าน นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ใหม่อีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้
คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ตัวเลขจีดีพีขยายตัวติดลบสูงถึง 12.2% เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ไตรมาสที่ 3/2563 น่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นที่เท่าไหร่ยังต้องรอดูตัวเลขในเดือน ต.ค.นี้อีกครั้ง แต่ภาพรวมในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2563 ถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นตามลำดับ”
นายวุฒิพงศ์กล่าวและว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2563 ยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
สะท้อนจากผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่ปรับตัวดีขึ้น ที่ระดับ 4.3% ส่วนรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ 9.2% ต่อปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 51 หลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงผลจากมาตรการเยียวยาในช่วงก่อนหน้า ช่วยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น
การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนการส่งออกสินค้า ติดลบ 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุก ตลาดปรับตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน 9 ประเทศ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้ามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ภาคการท่องเที่ยวขณะนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ติดลบ 32.4% ต่อปี
อย่างไรก็ดีในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ 0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.3% ต่อปี
ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 47% ต่อ จีดีพี ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค.2563 ที่ระดับ 254.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จับสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส3ดีขึ้น-ธนาคารโลกแนะกระตุ้นเพิ่ม : รายงานเศรษฐกิจ

กฤษฎา จีนะวิจารณะ

ส่วนนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรียกประชุมผู้บริหาร และอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อรับฟังข้อมูลการดำเนินงาน หรือข้อจำกัดในการทำงานของแต่ละหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำแผนดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น 6 เดือน ถึง 1 ปี ได้อย่างเหมาะสม เตรียมความพร้อมไว้รอเสนอให้กับ รมว.คลัง คนใหม่ พิจารณาต่อไป
“จะดูทั้งระยะสั้นว่าควรมีมาตรการอะไรออกมาหรือไม่ แต่ละหน่วยงานทำงานเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ที่ทำได้ไม่ได้บ้าง เพื่อเตรียมทำแผนระยะสั้น และจะดูต่อไปว่าในระยะกลาง จะทำอะไรต่อได้บ้าง คิดทุกอย่างเอาไว้ให้ชัดเจน เผื่อถ้ามีรมว.คลังคนใหม่เข้าก็ ก็จะได้นำแผนเหล่านี้ไปเสนอ”
นอกจากนี้ยังจะสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หาข้อมูลผลกระทบจากโควิด ของแต่ละรายภาคธุรกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจยานยนต์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเป็นรายธุรกิจ ให้ตรงจุด และถูกฝาถูกตัวมากขึ้น
รวมไปถึงการพิจารณาตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่อยากให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูง ผ่านมาตรการภาษีด้วย ว่าสามารถทำได้ หรือไม่
สศค.จะกลับไปดูว่า หากจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือรายธุรกิจใด จะต้องช่วยเหลือในลักษณะไหน และจะกระทบ ต่อฐานะการคลังมากน้อยเพียงใด หรือหากต้องสูญเสียรายได้ภาษีไป จะคุ้มค่ากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ด้วย
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประเทศ ไทยพอจะกลับมา ‘ลืมตาอ้าปาก’ ได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน