ถอดรหัสงานร้อนรับ‘อาคม’ ร่ายมนตร์ฟื้นเศรษฐกิจปี’64 : รายงานพิเศษ

การมาของ ‘นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ ในบทบาท ‘รมว.คลัง’ ในห้วงเวลานี้ของรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องง่าย รายล้อมไปด้วยปัจจัยลบรอบทิศทาง
บทบาท รมว.คลัง ในขณะนี้ นอกจากพยุงเศรษฐกิจให้เข้าที่เข้าทางแล้ว ยังต้องมองและขุดหา ‘แสงสว่างปลายอุโมงค์’ ให้เศรษฐกิจไทยพลิกจากติดลบมาเป็น ‘เสมอตัว’ ได้ภายในปี 2564 ถ้าคิดจะเริ่มออกวิ่งอีกครั้งในปี 2565

เพราะหากมองปัจจัยลบรุมเร้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลอดช่วงปี 2563 ที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทย ให้ติดลบชนิดช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี น็อกเอาต์หน้าประวัติศาสตร์ หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

ปี 2564 มีความท้าทายที่วัดกึ๋น ให้ท่านอาคม ‘ร่ายมนตร์’ กอบกู้เศรษฐกิจ ที่ยากลำบากมากขึ้น เพราะเหตุจากปี 2563 จะเริ่มไปออกดอกผล ในปี 2564 มากขึ้น

ถอดรหัสงานร้อน รมว.คลัง หลังจากที่ตบเท้าเข้ากระทรวงการคลังวันแรก ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยเบอร์ 1 รัฐวิสาหกิจทุกแห่งในสังกัดกระทรวงการคลัง มามอบนโยบาย
‘คนจะตกงาน-หนี้จะเบ่งบาน-งบประมาณจะตึงมือ’ คือ 3 ตัวชี้วัด สำคัญที่ ท่านอาคมให้นโยบายแบบส่งสัญญาณชัดเจน ในการเตรียมแผนรับมือระยะสั้น

ปัญหาคนตกงานที่กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ให้กับรัฐบาล

ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2563 มีอัตราว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552

จากการที่สถานประกอบการปิดกิจการในช่วงโควิด ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ ซึ่งไม่รู้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้อย่างไร เพราะไทยยังไม่เปิดประเทศ ไม่มีนโยบาย และไม่มีทิศทาง เป็นรูปเป็นร่างออกมา

นายอาคมให้โจทย์กับเรื่องนี้ คือ การเตรียมมาตรการเปิดเศรษฐกิจประเทศ (Re-Opening Economy) ต้องเตรียมการว่าจะแบ่งระยะอย่างไร เช่นเรื่องของการท่องเที่ยว มีการศึกษาไว้แล้ว เพียงแต่ระยะเวลาอาจจะไม่เหมาะสมก็ต้องมาดูเรื่องของวิธีการที่จะกระตุ้นส่วนนี้อย่างไร ต้องสร้างความมั่นใจว่าในประเทศปลอดภัย

“ต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว”

นายอาคมกล่าวและว่า นอกจากนี้ต้องเร่งผลักดันการใช้เงินกู้ ในส่วนที่เป็นการกู้เพื่อใช้ ‘ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการจ้างงาน แต่ยังเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไปไม่ถึงแสนล้านบาทเท่านั้น

ต้องติดตามกันว่า มาตรการเกี่ยวกับการรักษาการจ้างงาน เช่น มาตรการทางภาษีจูงใจ การให้สิทธิประโยชน์บางอย่างกับผู้ประกอบการ ยึดโยงไปถึงการเดินหน้าเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น อีอีซี จะส่งผลบวกต่ออัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งเร่งใช้จ่ายเม็ดเงินโครงการฟื้นฟู ให้เกิดการจ้างงานใหม่ จะได้ผลลัพธ์ในระยะต่อไปเช่นไร

ปัญหาเรื่องหนี้ ทั้งในระบบ นอกระบบ หนี้เสีย หนี้ครัวเรือน ที่จะระเนระนาดเป็นโดมิโนในปี 2564 เป็นเรื่องที่นายอาคมต้องวางแผนรับมือให้พร้อมเช่นกัน

จากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มีลูกหนี้พักหนี้รวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท แน่นอนว่า ในวิกฤตเช่นนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาพักหนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการคงไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติทั้งหมด หรือเพียงแค่ 10% ที่กลับมาชำระไม่ได้ ก็คิดเป็นหนี้ที่มีปัญหาในระบบสูงกว่า 3 แสนล้านบาทไปแล้ว

ย่อมเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวได้ไม่เต็มปอดดีนัก

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมา ก็จะเป็นปัจจัยลบ ที่คอยขัดแข้งขัดขา

จากบทความวิจัย ธปท. เรื่อง “เจาะความท้าทายใหม่ของหนี้ครัวเรือนไทยในวิกฤตโควิด-19 จากข้อมูลสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ” ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายขึ้นมากท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงที่จะเกิด second wave และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจไม่รวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นวิกฤตหนี้รายย่อย

เป็นงานร้อนของนายอาคม ที่ต้องตกผลึกให้ได้ว่าจะแก้กันอย่างไร และแก้วิธีไหน ซึ่งล่าสุดมาตรการการพักชำระหนี้ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ นายอาคมระบุว่า ต้องประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป

โดยมองว่าการแก้ไขหนี้ ต้องปรับ 2 ต่อ ต่อแรกการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร ปรับต่อที่สองคือการปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องไปหารือกัน เพราะรัฐบาลช่วยได้ระยะเวลาหนึ่ง หากขยายเวลาการชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ลูกหนี้ก็จะไม่ชำระหนี้

“การปรับโครงสร้างหนี้มีความสำคัญ ธุรกิจไหนดูแล้วไปไม่ได้ต้องรีบปรับ ต้องเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ เช่น การนำดิจิตอลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะระบบการสั่งซื้อสินค้ามันเปลี่ยนแปลงไปมาก”

เรื่องสุดท้ายที่นายอาคมให้ความสำคัญ ระหว่างมอบนโยบายมากที่สุด คือการรักษาวินัยการคลัง และดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะการหารายได้ในปี 2564 ที่ 2.67 ล้านล้านบาท ถือว่ามีความท้าทายมากกว่าปี 2563 ซึ่ง นายอาคมกล่าวว่า ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย ยังไม่มีการปรับเป้าหมายจัดเก็บใหม่

แม้ว่า 3 กรมจัดเก็บ ทั้งสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร แบะท่าตบเท้าเข้าพบกระทรวงคลัง เพื่อขอลดเป้าหมายจัดเก็บรายได้ในปี 2564 แล้วก็ตาม
ที่น่าเป็นห่วงเพราะในปี 2564 แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการเห็นชอ

จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกรอบวงเงินการบริหารหนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์

เป็นการก่อหนี้ใหม่จำนวน 1.64 ล้านล้านบาท และการก่อหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่ครบอายุอีก 1.27 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 2 ที่กู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จากปี 2563 ที่เปิดวงเงินกู้ไป 2.14 แสนล้านบาท

แม้ว่าในปี 2563 จะกู้มาตุนเงินคงคลังกว่า 5 แสนล้านบาท ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 2-3 เดือน แต่แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ ที่มีแต่ทรงกับทรุดย่อมส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐ ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

แม้ว่าจะมีการขึงวินัยการคลังในการก่อหนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีไปแล้วก็ตาม ความท้าทายของนายอาคม คือจะหารายได้จากไหน ใช้จ่ายอย่างไร ต้องติดตามความสมดุลนี้ให้ดีในปีหน้า

ไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างเรื่องการเมือง แม้ว่าศึกใน ที่ดูว่าจะสามารถทำงานกันได้ดีร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เพราะถือว่านายอาคมก็มีบารมีพอตัว จะเคี้ยวก็ลำบาก จะข่มก็ยาก
แต่ศึกนอกจากปัญหาการชุมนุมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย เป็นเรื่องที่นายอาคมออกตัวว่า “ไม่ขอคาดเดา” จะเป็นชนวนฉุดรั้งเศรษฐกิจอีกหรือไม่

จากปัญหาทั้งหมดกับธงที่นายอาคมปักไว้ว่า “เศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัว 1-2 ปี” ก็ดูจะไม่ง่ายไปเสียแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน