‘สุริยะ’ ดันภูเก็ตฮับการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย – ตั้งเป้าติด 1 ใน 10 ของโลก สร้างมูลค่าเพิ่ม 4 หมื่นล้าน

‘สุริยะ’ดันภูเก็ตฮับเรือสำราญ – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด บริษัทท่าจอด/ต่อและซ่อมแซมเรือครบวงจรแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ระหว่างเตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย. 2563 ว่า กระทรวงพร้อมผลักดันอุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือของไทยเป็นสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย (marina hub of asia)

โดยการปรับแก้กฎหมาย ข้อบังคับที่เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมารีน่า ช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 30,000 คน รวมถึงการขุดลอกร่องน้ำ เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมเรือสำราญของไทยมีศักยภาพสูง มีกลุ่มผู้ประกอบการหลากหลาย ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และที่พักจัดสัมมนา ธุรกิจท่าจอด/ต่อ/ซ่อม/สร้างเรือครบวงจร ธุรกิจผลิตผ้าใบเรือยอชต์ อุปกรณ์เรือยอชต์ พร้อมให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

ในวันเดียวกันได้เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของบริษัท รอลลี่ ทาสเกอร์ เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการตกแต่งหรือเย็บปักถักร้อยสิ่งทอเป็นใบเรือ ซ่อมใบเรือ และทำอุปกรณ์เกี่ยวกับเรือจากพลาสติกและโลหะ ตั้งเป้าหมายติด 1 ใน 10 ธุรกิจผ้าใบเรือ จากปัจจุบันอยู่อันดับ 12 ของโลก

น.ส.เชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภูเก็ต กล่าวว่า ภาคเอกชนขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยผลักดันข้อเสนอในการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในกิจการต่อและซ่อมเรือในพื้นที่ โดยขอให้รัฐพิจารณาขยายระยะเวลาอนุญาตให้เรือสำราญจอดอยู่ในประเทศไทยได้นาน 3 ปี จากปัจจุบันกำหนดไว้ 6 เดือน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยทัดเทียมกับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซียอนุญาตให้จอดได้ไม่จำกัดเวลา รวมถึงขออนุญาตให้คนประจำเรืออยู่เป็นระยะเวลานานเท่ากับเรือด้วย จากปัจจุบันกำหนดไว้เพียง 30 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงการคลังยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากมูลค่าเรือ โดยเสนอให้เก็บเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายได้ค่าเช่าและอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากแวตที่เรียกเก็บจากมูลค่าเรือไม่ได้เป็นรายได้เข้าประเทศ เพราะสามารถขอคืนได้ในภายหลัง และเป็นการสร้างภาระให้แก่เรือทำให้ไม่จูงใจให้เรือเข้ามาจอดในไทยเท่าที่ควร

“หากสามารถปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า หรือประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี”

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมยังมีภาคเอกชนเสนอแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ พร้อมเสนอให้ยืดระยะเวลาพักชำระหนี้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ไปถึงสิ้นปี 2564 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน รวมทั้งขอให้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน