ครม.เห็นชอบแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง-เคาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคใน 20 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลน

ครม.เห็นชอบแผนจัดสรรน้ำ – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563 – 30 เม.ย. 2564 และมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 มีทั้งสิ้น 19,868 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 42%

โดยจะมีการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1. เพื่ออุปโภค-บริโภค 2. รักษาระบบนิเวศ 3. เพื่อการเกษตรกรรม และ 4. เพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. 2564

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบ 9 มาตรการหลัก รับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเน้นจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างน้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำ พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลและสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนต่อเนื่อง

โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบชัดเจน ได้แก่ 1. เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2. จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียง และแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง 3. ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตามกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 6. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ให้มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วและชัดเจน

7. ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8. ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 9. สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าได้ตามแผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการที่ชัดเจน แบ่งเป็น 1. พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งมีพื้นที่สาขาที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวม 41 สาขาในพื้นที่ 28 จังหวัด และพื้นที่การให้บริการของประปาท้องถิ่นที่อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคใน 20 จังหวัด 66 อำเภอ 140 ตำบล

2. พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อตำบล และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำปานกลาง ตั้งแต่ 1-5 ล้านลบ.ม. ต่อตำบล

และ 3. พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังด้านคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะปัญหาน้ำเค็มรุกที่อาจส่งผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล (กปน.) แม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสถานีปากคลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบ้านสร้าง รวมถึงประเมินความเสี่ยงผลกระทบการขาดแคลนน้ำเป็นรายลุ่มน้ำที่น้ำต้นทุนมีจำกัด เพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการแก้ไขบรรเทาผลกระทบที่ชัดเจน อาทิ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น

ลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำเพียงพอทำการเกษตรฤดูแล้ง แต่อาจมีข้อจำกัดที่จะส่งมาช่วยผลักดันน้ำเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงแล้งหน้าเหมือนในช่วงเดือนมิ.ย 2563 ได้ ลุ่มน้ำชี-มูล มีเพียงเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค และส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรเพียงบางพื้นที่ รวมถึงลุ่มน้ำภาคตะวันออก สามารถจัดสรรน้ำให้กิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ ได้ ยกเว้น อ่างเก็บน้ำบางพระ ที่ยังต้องเร่งสูบน้ำจากระบบโครงข่ายน้ำเข้ามาเติมในอ่างฯ ให้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน