สภาพัฒน์เคาะจีดีพีไทยปี 63 หดตัวลดลงเหลือ ติดลบ 6% ปี 64 ฟื้นแน่ที่ 4% ตามเศรษฐกิจโลก แต่จับตาหนี้ครัวเรือน-ตกงานยังพุ่ง

จับตาหนี้ครัวเรือน-ตกงานยังพุ่ง – นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สศช. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัว -6% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ -7.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ขยายตัว -6.4% ลดลงจากไตรมาส 2/2563 ที่ -12.1% ดีกว่าที่คาดไว้มาก และเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรก ขยายตัวติดลบ 6.7% ขณะที่การส่งออกปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว -7.5% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัว 4% ในช่วง 3.5-4.5%

“ไตรมาส 3/2563 ขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ดี การบริโภคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรปรับตัวดี ประเทศเริ่มมีการเปิดประเทศเกือบ 100% ยกเว้นการจำกัดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น คาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยว 4.6 แสนล้านบาท และปี 2564 ที่ 4.9 แสนล้านบาท โดยการขยายตัวที่ -6% ยืนยันว่าไม่รั้งท้ายประเทศอาเซียน ไทยยังอยู่ในระดับกลางๆ”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจปี 2564 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การฟื้นตัวอุปสงค์ในประเทศจากมาตรการรัฐ 2. การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก 3. การเบิกจ่ายภาครัฐกว่า 3.75 ล้านล้านบาท และ 4. ฐานการขยายตัวที่ต่ำในปี 2563

ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ 1. ความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดโควิด-19 คาดว่าวัคซีนจะพร้อมใช้เร็วสุดไตรมาส 3/2564 2. ปัญหาว่างงานและฐานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจ 3. ความเสี่ยงจากภัยแล้ง และ 4. ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกโดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ขยายตัว 4.9% จากปี 2563 ที่ -3.5%

นายดนุชา กล่าวว่า การกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น จะต้องมีการกู้จนครบ 1 ล้านล้านบาทหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ แต่จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เพียง 70% แบ่งเป็นปี 2563 ใช้ 2.99 แสนล้านบาท และ ในปี 2564 ที่ 4.03 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา วงเงินในส่วนฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท อนุมัติโครงการ 1.2 แสนล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงแค่ 9.7 พันล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจสังคมไตรมาส 3 ปี 2563 มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ หนี้ครัวเรือนของไทย ที่ตัวเลขล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2563 มีมูลหนี้ 13.6 ล้านล้านบาท หรือ 83.8% ของจีดีพี เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ที่ 46.9% เป็นสินเชื่อธุรกิจ 18.3% และเป็นสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค 34.8% ในส่วนนี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ประมาณ 3% มีหนี้ที่ขาดชำระไม่เกิน 3 เดือน อยู่ที่ 7.06% หรือประมาณ 9 แสนล้านบาท และปัญหาการว่างงานยังมีความเสี่ยงสูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าปีนี้จีดีพีติดลบแน่นอน แต่เบื้องต้นหากมองจากปัจจัยบวกและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ที่ดีขึ้น เป็นไปได้ว่าปีนี้จีดีพีจะเติบโตติดลบน้อยกว่า 7.7% ส่วนปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกได้ ที่ระดับ 4% โดยยังต้องจับตาภาคการท่องเที่ยว หากสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่กำลังแข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าภายในประเทศ ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท. ยืนยันว่ามีหลายมาตรการในการดูแล ส่วนสถานการณ์การไหลข้าวของเงินทุนนั้น เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดหุ้นของไทยที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐ รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ที่ต้องระวังตามมาคือการเก็งกำไร โดยทั้งหมดต้องช่วยกันทั้งมาตรการทางการเงินของ ธปท. และมาตรการทางการคลังของกระทรวงการคลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน