แบงก์ชาติทุ่มแสนล้านเหรียญแทรกแซงค่าเงิน 5 ปี ย้ำไม่เคยนิ่งนอนใจ พร้อมออกมาตรการคุมบาทแข็งเร็วๆ นี้ ช่วยผู้ส่งออกสายป่านสั้น
ธปท.ทุ่มแสนล้านอุ้มบาทแข็ง – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในการเข้าไปดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งจะต้องเป็นมาตรการที่ดูในภาพรวม ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อดูเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเพียงอย่างเดียว แต่ยังบอกไม่ได้กำหนดเวลาว่ามาตรการดังกล่าวจะออกมาเมื่อไหร่
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความกังวลในเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติ การแข็งค่าของเงินบาท ไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ที่มีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการในภาคส่งออกที่สายป่านสั้นก็จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป
“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงที่ผ่านมา มาจากข่าวเรื่องการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทำให้คนคาดหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้น และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล แต่ที่น่าห่วงคือ วัคซีนไม่ได้เป็นตัวแก้ปัญหาจนกว่าจะมีการนำมาใช้จริง แต่ตอนนี้เงินบาทแข็งเพราะข่าวเรื่องวัคซีน ส่วนนักท่องเที่ยวยังไม่เดินทางมาเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง” เศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ธปท. เข้าใจความลำบากและความกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจที่มีต่อสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยยืนยันว่า ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ บางช่วงที่เห็นเงินบาทแข็งค่า แต่เหมือน ธปท. ไม่ได้ทำอะไรนั้น ไม่ได้ชี้แจง หรือแถลง ไม่ได้หมายความว่า ธปท. ไม่ได้ทำอะไร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาดูแลใน 2 เรื่อง คือ 1. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และ 2. การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ ธปท. เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยากทำ เพราะเมื่อตีมูลค่าแล้ว ทำให้ ธปท. ขาดทุนในปริมาณดังกล่าว