รายงานพิเศษ

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด – จากปัญหาราคาข้าว การส่งออก ค่าเงินบาทแข็ง และปัญหาเรื่องข้อมูลการปลูกข้าวของภาครัฐ-เอกชน ที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กันเท่าไหร่

ส่งผลให้ชาวนาและกลุ่มผู้ส่งออก ต้องปวดขมับและประมาณการว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน จึงจัดทีมพร้อมเชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจภาวการณ์ผลิตและตลาดข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.อุบลราชธานี เพื่อร่วมหาทางออกและแก้ปัญหาร่วมกัน

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหารือกับตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสมาคมและกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เช่น สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มสหกรณ์, เครือข่ายเกษตรกร ฯลฯ

โดยเฉพาะในประเด็นข้อมูลผลผลิตที่ไม่ตรงกันของแต่ละหน่วยงาน

ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ระบุว่าในปีนี้มีพื้นที่เพาะปลูก 37,826,580 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.1%

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่ามี 39,005,810 ไร่ เพิ่มขึ้น 3.9%

เกษตรกรจังหวัด ระบุว่ามี 38,391,169 ไร่ เพิ่มขึ้น 0.2%

ขณะที่พื้นที่เก็บเกี่ยวสศก.ระบุ 34,782,418 ไร่ เพิ่มขึ้น 8.6% เป็นต้น

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าตัวเลขที่คลาดเคลื่อนกันค่อนข้างมาก ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ตลาดและทำราคาได้ยาก

บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งกว่าคู่แข่งก็ยิ่งทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ยากมากขึ้นในตลาดโลก

ปัจจัยลบต่างๆ ทำให้สมาคมคาดการณ์การส่งออกข้าวปีนี้เพียง 6 ล้านตัน จากเป้า 7.5 ล้านตัน

นอกจากนี้พบว่าประเทศนำเข้าต้องการข้าว “พื้นนุ่ม” ในขณะที่ข้าวที่ประเทศไทยมีข้าวขาวพื้นนุ่มจำนวนน้อย เทียบกับคู่แข่งที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายกว่า ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวพื้นนุ่มกับคู่แข่งมากขึ้น

ไทยจึงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนี้ให้คู่แข่งอย่างเวียดนามไปอย่างน่าเสียดาย

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด ‘รัฐ-พ่อค้า-ชาวนา’ร่วมฝ่าวิกฤต
เวียดนามเป็นประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างมาก โดย จัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาโดยนำพันธุ์ข้าวที่ดีในตลาดมาพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อทำตลาด มีระยะเพาะปลูกที่สั้น 90-95 วันปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง

ขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพียง 100 ล้านบาท/ปี เท่านั้น

ที่ประชุมเป็นกังวลว่าหากปัญหายังไม่แก้ไขภายใน 5 ปีนี้ ไทยที่เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 อาจหล่นไปอยู่ที่ 5 ต่อจากเมียนมาและจีนจากปัจจุบันไทยอยู่อันดับ 3 เป็นรองอินเดีย และเวียดนาม ไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้เองภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย (ปี 2563-2567)” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด ‘รัฐ-พ่อค้า-ชาวนา’ร่วมฝ่าวิกฤต
ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก”

มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าวซึ่งมีความต้องการข้าวที่หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพื้นนุ่มที่เป็นความต้องการของตลาด

2.ด้านการตลาดภายในประเทศ ดำเนินการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ

3.ด้านการผลิต ต้องลดต้นทุนการผลิตให้เหลือไม่เกินไร่ละ 3,000 บาทจากปัจจุบันเฉลี่ยไร่ละ 6,000 บาท, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่จาก 465 ก.ก.เป็น 600 ก.ก., เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด ‘รัฐ-พ่อค้า-ชาวนา’ร่วมฝ่าวิกฤต

เป้าหมายได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะ สั้น เตี้ย ดก ดี โดย 12 พันธุ์ ประกอบด้วยข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์

รวมถึงดำเนินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อนำไปสู่การแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้ต่อไป สำหรับปี 2564 จะเป็นกรณีพิเศษจะมีการจัดประกวด 2 ครั้งคือในต้นปี และปลายปี

สําหรับข้าวพื้นนุ่มนั้น กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างการ เร่งผลักดันเพื่อให้มีมาตรฐานในการซื้อ-ขายในอนาคต ให้ความสำคัญเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด ‘รัฐ-พ่อค้า-ชาวนา’ร่วมฝ่าวิกฤต

เช่น ด้านเคมีและด้านกายภาพ ควรใช้ค่าอะไรบ้าง เกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดควรมีอะไร ซึ่งยังต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดจำนวนมาก เช่น สี ความยาว ลักษณะเมล็ด รวมถึงองค์ประกอบคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลว่าต้องมาจากส่วนใดบ้าง

ประเทศไทยพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มออกมาและให้การรับรองแล้วหลายพันธุ์ เช่น กข 39, กข 43, กข 53, กข 77 และ กข 79 แต่ยังไม่นิยมปลูกเป็นที่แพร่หลายมากนัก

แม้ว่าจะขาดแคลนงบประมาณด้านงานวิจัย แต่สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รศ.ดร.สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ หัวหน้าโครงการวิจัยยังเดินหน้าทำงานวิจัยจนสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวเจ้า “หอมวาริน” ได้สำเร็จ โดยใช้เวลา 3-4 ปีงบประมาณ 3 ล้านบาท

ข้าวพันธุ์นี้มีระยะปลูก 120 วัน เป็นข้าวนาปี เป็นข้าวพื้นนุ่มที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานเพราะทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนเเล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าว อาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

‘ข้าวไทย’ทางเลือก-ทางรอด ‘รัฐ-พ่อค้า-ชาวนา’ร่วมฝ่าวิกฤต

คุณสมบัติเด่นข้าวสุกมีกลิ่นหอม มีความนุ่มเหนียวคล้ายข้าวดอกมะลิ 105 แต่เมล็ดสั้นกว่าหอมดอกมะลิ จึงแยกออกจากกันได้ง่ายแยกการปลอมปนได้ด้วยสายตา

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดทะเบียนรับรองพันธุ์พืชใหม่ จากนั้นก็จะจดคุ้มครองพันธุ์พืชต่อไป

ในอนาคตต้องการให้เกษตรกรสามารถทำแปลงเมล็ดได้เองโดยไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกและหากเกษตรกรสามารถปลูกได้มาตรฐานและมีปริมาณมากพอแล้วก็จะเป็นข้าวที่มีอนาคต สามารถส่งออกได้ตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้า

ต่อไปเกษตรกรต้องปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือกไม่ปลูกเฉพาะข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง และต้องมองถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงแต่ประเทศไทยปลูกน้อย ทำให้เสียโอกาสทางการตลาด

ขณะเดียวกันยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงสีให้รับซื้อข้าวพันธุ์ใหม่เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกไปแล้วแต่โรงสีไม่รับซื้อเพราะเป็นข้าวเมล็ดสั้นไม่ตรงกับสเป๊กของตลาดและกลัวไปปนกับข้าวหอมมะลิ

ด้านนายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ซื้อข้าวเข้ามาเก็บไว้ในสต๊อก เมื่อราคาผันผวนหรือราคาตกลงทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับ ที่ผ่านมา สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการโรงสีวงเงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท หากยังปล่อยเท่าเดิมก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการยังมีสภาพคล่องได้ต่อไป

ขณะนี้คาดว่าโรงสีมีสต๊อกข้าวรวมๆ กว่า 1.4 ล้านตัน คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่ไม่แน่ใจว่าสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการโรงสีหรือไม่
เพราะอาจมองว่าสถานการณ์ราคาข้าวโดยรวมยังตกต่ำ ทำให้สถาบันการเงินประเมินว่าอาจมีความเสี่ยงสูง

ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสียังมีสถานะทางการเงินดีอยู่ประมาณ 70%-80% ส่วนอีก 20-30% นั้นก็จะค่อยๆ หายไป หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

ส่วนตัวแทนจากภาคเกษตรกร แสดงความคิดเห็นตรงกันว่า ต้องการให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ไขให้กับชาวนาตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ข้าวไทย ที่พูดมาทุกยุคสมัยแต่การส่งออกข้าวไทยกลับถดถอยลงไปเรื่อยๆ

ต้นทุนของชาวนาก็ยังสูงกว่าคู่แข่ง ผลผลิตต่อไร่ก็ยังต่ำ

ขณะที่ชาวนาก็ต้องช่วยตนเองด้วยการรวมกลุ่ม พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการประกันราคาข้าว แต่ไม่ใช่ทางรอดที่ยั่งยืนของชาวนาไทย

ดังนั้นรัฐบาลควรทุ่มงบประมาณไปกับการสร้างระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้กับชาวนา เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินประกันหากชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาดี

หากวันนี้ยังเพิกเฉยต่อไปประเทศไทยคงตกขบวน กลายเป็นประเทศไร้ชื่อในวงการข้าวโลกไปตลอดกาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน