รายงานพิเศษ

เปิดโจทย์ท้าทาย‘ค้าปลีก’2564 – ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ ‘ธุรกิจค้าปลีก’ ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น

จากในปี 2563 ที่ผ่านมาเจอบททดสอบพิเศษอย่างไม่มีใครตั้งตัว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและดิ้นรนเพื่อผ่านปีที่เลวร้ายไปให้ได้

มาตั้งหลักอีกครั้งหลังปีใหม่มาดูว่าผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก เตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นจริงของปี 2564 อย่างไร

“ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญกับ 2 ดิสรัปต์ (Disrupted) จากเทคโนโลยี และโควิด-19 ทำให้เกิดนิว นอร์มัล ทั้งต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย” แม่ทัพหญิงแห่งเดอะมอลล์ ‘ศุภลักษณ์ อัมพุช’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

รายงานพิเศษ

ศุภลักษณ์ อัมพุช

ตลอดระยะเวลา 39 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ในปี 2564 แม่ทัพหญิงคนนี้ขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าเหตุการณ์ และวิกฤตต่างๆ มาแล้วมากมาย ดังนั้นการจะผ่านความเปลี่ยนแปลงไปได้ ต้องทำตัวเป็น ปลาที่เคลื่อนไหวเร็ว และรู้ว่าเอาตัวรอดอย่างไร

แผนการปรับ ‘เดอะมอลล์ ดิ ออลล์’ เป็น ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์’ เต็มรูปแบบ กับการพัฒนาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าให้กลายเป็น ‘เดสซิเนชั่น’ (Destination) หรือจุดหมายที่ผู้บริโภคมาใช้ชีวิต มาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ ทั้งช็อปปิ้ง และหาความบันเทิง (Retail & Entertainment)

เพราะต้องยอมรับว่าในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ในทุกที่ทุกเวลา
การดึงผู้บริโภคเข้าห้างและศูนย์การค้าได้นั้นต้องเป็นมากกว่าในอดีต

ดังนั้นในระยะ 3-4 ปีนี้แผนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป จึงเป็นช่วงของการปรับปรุงสาขาครั้งใหญ่ ภายใต้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ตามแผนโรดแม็ปที่วางไว้เริ่มปรับตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 5 สาขา

ประกอบด้วย เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่ปรับทั้งหมดเสร็จแล้วในปี 2563 และในปี 2564 นี้จะปรับที่สาขาท่าพระ, บางแค, บางกะปิ และรามคำแหง

ทั้งหมดคาดแล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อรองรับฐานลูกค้าทุกมุมเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้าในแต่ละเจเนอเรชั่น

ระหว่างนี้จะควบคู่ไปกับการลงทุนโครงการใหม่ๆ รวมงบประมาณทั้งหมดที่ต้องลงทุนภายใต้โรดแม็ป 5 ปี (ปี 2562-2566) กว่า 60,000 ล้านบาท ใน 2 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย โครงการ ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’ บนใจกลางสุขุมวิทบนพื้นที่กว่า 200,000 ตร.ม.

และโครงการ ‘บางกอกมอลล์’ (Bangkok Mall) บนถนนบางนา-ตราด เป็น มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์ ที่มีทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ รวมถึงอารีน่า แบบครบวงจร

บนพื้นที่โครงการทั้งหมด 100 ไร่ รวมพื้นที่โครงการกว่า 1,200,000 ตร.ม. มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท

เดิมมีกำหนดเปิดให้บริการทั้งโครงการภายในปี 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน แต่จะเปิดในกำหนดการเดิมหรือไม่นั้น คงต้องดูสถานการณ์โดยรวมของตลาด

รายงานพิเศษ

นายปรีชา เอกคุณากูล

“กลุ่มเซ็นทรัล” ในปี 2563 เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ทบทวนแผนลงทุนใหม่ และไม่ได้เปิดศูนย์การค้าใหม่เลยสำหรับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทำให้ยังคงมีศูนย์การค้า 34 แห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่าถือเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของบริษัท มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้เช่า พนักงานบริษัท และผู้ถือหุ้น รวมทั้งเรื่องของบริการที่ปลอดภัย และที่สำคัญได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อลดต้นทุน

น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าแผนลงทุนระยะยาว 20,000 ล้านบาทต่อปี (ระหว่างปี 2563-2567) โดยโครงการต่างๆ ยังคงเป็นไปตามที่วางแผน

เน้นโครงการในลักษณะ ‘มิกซ์ยูส’ ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ซึ่งกำหนดเปิดปี 2564 เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา กำหนดเปิดปี 2564 เซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี กำหนดเปิดปี 2565 และโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค บนทำเลทอง “ซุปเปอร์คอร์ ซีบีดี” ในกรุงเทพฯ โดยจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2566-2567

รายงานพิเศษ

น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์

“ตามโรดแม็ปในปี 2564 มีแผนเปิด 2 โครงการใหม่ คือ เซ็นทรัล อยุธยา และศรีราชา จากปี 2563 เป็นปีแห่งความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน”

น.ส.วัลยา กล่าวอีกว่าสำหรับเราได้ดำเนินกลยุทธ์สำคัญ คือการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ มองหาโอกาสการลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้หลากหลายขึ้น เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งประเภทศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม อีกทั้งยังลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบรับเทรนด์

ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และบริษัทในกลุ่ม หันมาโฟกัสช่องทางขาย ‘ออมนิชาแนล’ แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างหน้าร้านและออนไลน์ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงโควิด-19 ช่องทางขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลายสร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 350%

จึงเปิดตัว ‘CENTRAL APP’ โฉมใหม่ พร้อมเดินหน้าเต็มที่ให้บริการในปี 2564

นายนิโคโล กาลันเต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คนไทยใช้โทรศัพม์มือถือเล่นโซเชี่ยลมีเดีย ช็อปปิ้ง และทำธุรกรรมการเงิน เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะ

รายงานพิฌศษ

นายนิโคโล กาลันเต้

“เรามองเห็นโอกาสของการทำธุรกิจกับความท้าทายบทใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่ผ่านมาห้างเซ็นทรัลเป็นผู้นำแห่งวงการค้าปลีกของเมืองไทย ทั้งเป็นห้างแรกที่ติดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจน การนำบาร์โค้ดมาใช้เป็นครั้งแรกในไทย และยังเป็นเจ้าแรกที่นำสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองไทย”

นายนิโคโล กล่าวและว่าจนถึงวันนี้กับอีก 1 ก้าวสำคัญสู่การมุ่งเป็นอันดับหนึ่ง แพลตฟอร์มออมนิชาแนลเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การช็อปปิ้งสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ดีที่สุด”

ด้าน ‘รวิศรา จิราธิวัฒน์’ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า การเปิดตัว ‘CENTRAL APP’ นับเป็นการเปิดประตูสู่การช็อปปิ้งเหนือระดับ

รายงานพิเศษ

รวิศรา จิราธิวัฒน์

แอพฯ ใหม่นี้ออกแบบให้เชื่อมสิ่งต่างๆ เข้ากันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งสินค้าที่ดีมีคุณภาพ โปรโมชั่นโดนใจ และบริการ อันเป็นจุดแข็งของห้างเซ็นทรัล เข้ากับการช็อปปิ้งออนไลน์ที่สะดวกสบาย คาดว่าจะมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 4 ล้านครั้งภายในปี 2564

ด้านห้างค้าปลีก ที่มุ่งขายสินค้าราคาคุ้มค่า ‘บิ๊กซี’ ในกลุ่มบีเจซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนของบิ๊กซีไม่ได้ชะลอหรือต้องปรับแผนการดำเนินงานมากนัก เพียงแต่ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งต้องปรับรูปแบบของสาขาให้ตอบโจย์ผู้บริโภค และครอบคลุมหลากหลายกลุ่มมากกว่าเดิม ซึ่งมองว่าสาขาขนาดเล็กยังสามารถขยายได้ดีอยู่ ทำให้จะเน้นรูปแบบมินิ บิ๊กซี เป็นหลัก

รวมถึงยังอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบค้าส่งในชื่อ ‘Big C Depot’ ทดลองให้บริการไปแล้วประมาณ 4-5 แห่งในปี 2563

รายงานพิเศษ

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล

“สิ่งที่ภาคธุรกิจค้าปลีกต้องแข่งขันกันอย่างหนัก คงเป็นเรื่องชิงแชร์กำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงเวลาที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าต่างๆ ทำให้บริษัทจึงมีการพัฒนาธุรกิจบริการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่นเพิ่มเติมร้านอาหาร เนื่องจากในปัจจุบันลูกค้าเลือกจะมาใช้ชีวิตอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตในการรับประทาน แล้วจึงจะซื้อของ”

ปี 2564 อาจจะเป็นปีฟ้าหลังฝนของภาคค้าปลีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อจะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน