ส่งออกปี’63 ติดลบ 6% น้อยกว่าที่คาดไว้ ส่วนเดือนธ.ค.63 กลับมาเป็นบวก 4.7% ส่วนแนวโน้มปีนี้ คาดโตบวก 4% จากปัจจัยมีวัคซีนป้องโควิด

พาณิชย์ฟุ้งส่งออกติดลบ6% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2563 กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 8 เดือนและเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน ที่ 4.71% มูลค่า 20,082.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (ม.ค.–ธ.ค.) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.01% โดยเป็นตัวเลขการส่งออกที่ติดลบน้อยกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งไว้ว่าในปีนี้การส่งออกจะติดลบอยู่ที่ 7% เนื่องจากสินค้าอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมมีการปรับฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ทำให้การส่งออกในเดือนธ.ค.พลิกกลับมาเป็นบวก โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการปรับฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลโดยตรงทำให้การส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวตามไปด้วย

ขณะที่การนำเข้าเดือนธ.ค. 2563 มีมูลค่า 19,119.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.62% การค้าเกินดุล 963.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าทั้งปี มูลค่า 206,991.89 ล้านเหรียญสหรัฐหดตัว 12.39% ส่งผลให้ทั้งปี 2563 การค้าเกินดุล 24,476.54 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสาเหตุที่การส่งออกในเดือนธ.ค.นี้ กลับมาเป็นบวก แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เกิดจากการที่หลายประเทศมีประสบการณ์รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่ ทำให้ภาคการผลิตและการขนส่งยังดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ผลจากการระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดเช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้

นอกจากสินค้า 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าที่มีการกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณ การฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกไทย

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 ได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.0% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย

ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน