ถาวร สั่ง 29 สนามบิน ทำแผนเพิ่มรายได้ชดเชยโควิด เล็งให้เช่าพื้นที่ทำ “โรงซ่อม-คาร์โก้” พร้อมจี้ 4 หน่วยงานบูรณาการแผนสร้างสนามบิน หวั่นกระทบความปลอดภัยด้านการบิน

นาย ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคมเปิดเผยภายหลังประชุมหารือแนวทางการบูรณาการและการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศวันนี้(1 ก.พ.)ว่า ได้เชิญ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ,บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) มาหารือเพื่อให้แต่ละหน่วยงาน นำเสนอความต้องการ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางออกในการแก้ไขปัญหา สนามบิน และด้านการบินร่วมกัน

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าทั้ง 4 หน่วยงานขาดการบูรณาการทำงานร่วมกันจนก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในหลายกรณี ปัญหาหลักๆ เช่น ปัญหาเรื่องของความปลอดภัยในการขึ้นและลงของเครื่องบินในบางสนามบิน, ปัญหาเกี่ยวจุดที่ตั้งของหอบังคับการบิน, ปัญหาเกี่ยวกับแผนแม่บทของการจัดตั้งสนามบิน ของ ทย. และทอท.
นายถาวรกล่าวว่าหน่วยงานต่างๆไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวระดับหน่วยงานร่วมกัน จึงทำให้เกิดปัญหาการพัฒนา สนามบิน ที่เกิดความล่าช้า เช่น กรณีท่าอากาศยานเบตง ที่ต้องขยายเวลาเปิดทำการออกไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่ของ ทย.ก็พบว่ามีการสร้างอาคารแห่งใหม่ บดบังทัศนวิสัยของหอบังคับการบิน ของ บวท.

โดยปัญหาทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับการวางแผนพัฒนาท่าอากาศยาน ความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เบื้องต้นได้มอบหมายให้กองตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ทำการรวบรวม ข้อเสนอ ปัญหา อุปสรรค ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ จากนั้น กพท.จะเชิญประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป รวมทั้งกำชับให้ ทอท.ในฐานะเจ้าของสนามบินและ บวท.ซึ่งเป็นหน่วยควบคุมจราจรทางอากาศ ดำเนินการตามเอ็มโอยูการปฏิบัติงานร่วมกัน ที่ได้ลงนามไว้ก่อนหน้านี้
นายถาวรกล่าวถึงรายได้ของธุรกิจการบินปี 63ว่า ภาพรวมลดลงเหลือ 10% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในเดือนเม.ย. และเริ่มปรับตัวดีขึ้นจนปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50-60 % ส่วนปี 64 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีก เนื่องจากมีวัคซีนจะเข้ามาไทยในช่วงกลางเดือนก.พ.64 ทั้งนี้เดิมคาดว่าการบินภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวช่วงปี 65-66 และระหว่างประเทศจะฟื้นตัว ปี 66-67 แต่ขณะนี้ไทยเจอกับปัญหาการระบาดโควิด-19 รอบ2 ดังนั้นจึงต้องรอดูผลการประเมินจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA อีกครั้ง
เบื้องต้นได้มอบหมายให้ ทย. เร่งจัดทำแผนการหารายได้ 29 สนามบิน เพื่อชดเชยรายได้จากผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงโควิด โดยให้เน้นหารายได้เพิ่ม ด้านแอร์คาร์โก้หรือธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ,บริการภาคพื้น , บริการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายธุรกิจ เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ว่างภายในท่าอากาศยานเพิ่มเพิ่มรายได้ เช่น การให้เช่าพื้นที่ทำแฮงก้า หรือโรงซ่อมอากาศยานให้กับสายการบินต่างๆต่อไป
รายงานข่าวจาก ทย.แจ้งถึงรายได้รวมของ ทย. ปีงบประมาณ 63 ว่า มีรายได้รวมอยู่ที่ 812.62 ล้านบาท ลดลง 41.56% หรือลดลงประมาณ 400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน