รีสตาร์ต‘ECONOVID’ด้วย ‘CO-PAY’
‘ข่าวสด’ชนะเลิศบทความ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

รีสตาร์ต‘ECONOVID’ด้วย ‘CO-PAY’ ‘ข่าวสด’ชนะเลิศบทความ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ – เป็นประจำทุกๆ ปี สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ชิงรางวัล “บทความป๋วย อึ๊งภากรณ์”

ในปี 2563 จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 14

มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (TDRI) คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมเป็นคณะกรรมตัดสิน

ปีนี้บทความเรื่อง “รีสตาร์ต ‘ECONOVID’ ด้วย ‘CO-PAY’ พลิกวิกฤต ‘ภาคการคลัง’ สู่ความยั่งยืน” โดยนายพรเทพ อินพรหม ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ข่าวสด คว้าชนะเลิศอันดับ 1

บทความดังกล่าว มุ่งหวังให้ประชาชนเข้าใจข่าวเศรษฐกิจอย่างง่าย เข้าถึง เชื่อถือได้ โดยมีเนื้อหา สาระสำคัญโดยย่อ คือ

“มีใครบ้างที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19”

คำตอบคือ “ไม่มี” ตลอดทั้งปี 2563 เป็นปีแห่ง ฝันร้ายในเชิงมิติทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ ไม่มีตำราทางเศรษฐกิจเล่มไหนชี้ทางออกจากมหาวิกฤตครั้งนี้ได้

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่แก้ไขยากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เพราะไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร

เช่นเดียวกันกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอย เพราะการเคลื่อนไหวทั้งคนและสินค้า ‘หยุดชะงัก’

ตลอดทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยจึงเหมือนกุ้งถูกน็อกน้ำเย็น ‘ไม่ตาย-แต่ไม่ฟื้น’ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ถูกบังคับให้ ‘ชัตดาวน์’

มูลค่าการส่งออกของไทยก็จมดิ่งทั้งปีคาดว่า จะติดลบ 7.5% ส่วนภาคการท่องเที่ยวติดลบอย่างหนักประเมินว่าต้องใช้เวลาถึงปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติถึงจะฟื้นกลับมาเท่าเดิมที่ 40 ล้านคนต่อปี

ดังนั้นการจะจุดติดเครื่องยนต์ใหม่ หรือรีสตาร์ตเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ จึงเหลือ ‘ไพ่ใบสุดท้าย’ คือการใช้จ่ายภาครัฐและการทำนโยบายภาคการคลัง อัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

รัฐบาลออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อตุน กระสุนให้รัฐบาลไว้ใช้รับมือถึงเดือนก.ย. 2564 เพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ไม่ได้ออกแบบมารองรับสถานการณ์โควิด-19

อีกทั้งยังเห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินปีงบประมาณ 2563 เพิ่มอีก 2.14 แสนล้านบาท เพราะมีการคาดว่ารายได้ปี 2563 จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 3 แสนล้านบาท

คาดการณ์ว่าหากรัฐบาลกู้เงินจนครบตามแผน จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเฉียดเข้าใกล้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60%

นายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะถึงทางตันในการกู้เงินมาใช้จ่าย เพราะรายได้จากภาษีอากรอีก 3 ปีจะไม่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องกู้ชดเชยขาดดุลแต่ละปีมากขึ้น

“รัฐบาลจะต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถทำได้ตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้ โดยในปี 2566 หนี้สาธารณะอาจทะลุไปถึง 65% ของจีดีพี”

ข้อสังเกตนี้เริ่มเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ ครม.เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลง 5.66% มี รายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลง 10.35% ขาดดุล 7 แสนล้านบาท

ถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ในปี 2564 ที่ 3.5-4.5% และปี 2565 ที่ 3-4% กรณี ดังกล่าว อาจเบาใจได้บ้าง

อย่างไรก็ตามการระบาดรอบใหม่นับตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค. 2563 ส่งสัญญาณ ‘หมัดน็อก’ เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. (2563) ระบุว่า การกลับมาระบาดรอบใหม่ ชี้ชัดว่าศึกคราวนี้ยังไม่จบง่ายๆ เป็นการพิสูจน์ฝีมือการประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด

แม้เดิมจะเคยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะแนวโน้มเดิมก่อนโควิด-19 ได้ภายในปี 2565 ในมิติสาธารณสุข ศึกนี้อาจจะจบภายใน 2-3 ปี แต่ในมิติเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นปกติได้คาดว่าภายในปี 2570

และโควิด-19 จะมีผลถาวรต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต

อาจหมายความว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จะมีปัจจัยเสี่ยงของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโต ที่กินระยะเวลานานกว่าที่คาด เข้าสู่ความเป็น ‘ECONOVID’ หรือ ‘เศรษฐกิจติดเชื้อ’ ที่พร้อมจะกลับไปซมเชื้อเหมือนปี 2563 ได้ทุกเมื่อ

จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลและภาคการคลังของประเทศ ในการออกแบบแนวนโยบายในการรับมือ ให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวต่อไปได้ ภายใต้แรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงเกาะเป็นเงาตามตัวไปอีกเกือบ 10 ปี

ที่ผ่านมาการใช้มาตรการ ‘รัฐร่วมจ่าย’ หรือ ‘CO-PAY’ เพื่อกระตุ้นการบริโภค อาจจะเป็นทางออกที่รักษาสมดุลระหว่างการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนแบ่งเบาภาระทางการคลังของประเท

ต่างจากการแจกเงินโดยตรงผ่านโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ กว่า 15 ล้านคน คนละ 15,000 บาท นาน 3 เดือน ใช้แพลตฟอร์มการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาให้กับผู้มีอาชีพอิสระ ใช้เงินงบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากและผลในทางเศรษฐกิจกลับไม่ดีอย่างที่คาดไว้

บทเรียนจากเราไม่ทิ้งกันในครั้งนั้นจึงนำมาสู่การออกนโยบายที่มีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการ ‘คนละครึ่ง’ ที่ตามหลังออกมาในรูปแบบการจ่ายร่วม รัฐช่วยออก 50% ประชาชนจ่ายเอง 50% โดยอุดหนุนให้วันละ 150 บาท แต่ไม่เกิน 3,500 บาท ได้รับเสียงตอบรับไปในทางที่ดี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจโครงการคนละครึ่ง พบว่าเป็นโครงการที่ผู้บริโภคทุกระดับเห็นตรงกันว่าพึงพอใจต่างจากโครงการอื่นๆ เมื่อคำนวณเงินที่จะหมุนในระบบ 2-3 รอบ

คาดว่าจะมีวงเงินสะพัดรวมมากกว่า 150,000 ล้านบาท

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า การทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564 นโยบายการคลังยังมีข้อจำกัด ดังนั้นอาจจะได้เห็นมาตรการลักษณะ ‘CO-PAY’ กันต่อเนื่อง

ความท้าทายภาคการคลังจะสามารถหยิบฉวยโอกาสจากเศรษฐกิจที่ถูกจุดติดด้วย CO-PAY นำมาสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการคลังอย่างยั่งยืนในระยะยาว กล่าวคือ

1.ขนาดของมาตรการต้องเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั่วถึง ไม่ตกหล่น ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐที่ผ่านมายังมีเม็ดเงินพร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจเหลืออยู่

2.CO-PAY กับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีกรมสรรพากร ใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อมุ่งสู่การสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสีย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และตรวจสอบการใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง

3.ขยายขอบเขต CO-PAY จากเดิมที่ต้องใช้จ่ายแบบตัวต่อตัวไปสู่รูปแบบออนไลน์ รับมูลค่าตลาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท ในปี 2563

ท้ายที่สุด CO-PAY จะต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไม่ใช้ CO-PAY เพื่อการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่ไม่จำเป็น

นับเป็น ‘โมเดล’ การฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้บริบทใหม่ในวิกฤตโควิด-19 ที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทกับชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยที่ภาครัฐไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่รายงานประจำปี 2563 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และเว็บไซต์ www.econmass.com

พรเทพ อินพรหม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน