เบื้องหลังศึกในรัฐ-หัก‘ภูมิใจไทย’
โยงขาใหญ่-ผลประโยชน์รถไฟฟ้า

: รายงานเศรษฐกิจ

 

เบื้องหลังศึกในรัฐ-หัก‘ภูมิใจไทย’โยงขาใหญ่-ผลประโยชน์รถไฟฟ้า : รายงานเศรษฐกิจ – กลายเป็นมรสุมที่ถาโถมใส่ “พรรคพลังประชารัฐ” ลูกแล้วลูกเล่า

ที่แม้จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้ แต่ก็ทิ้งรอยร้าวเอาไว้ในพรรค เมื่อพบว่ามีกลุ่มส.ส.ดาวฤกษ์ นำโดย มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี หักมติพรรค ไม่โหวตไว้วางใจให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ที่น่าสนใจและคงมองข้ามไปไม่ได้ คือการแสดงออกของส.ส.กลุ่มมาดามเดียร์ ที่มีต่อนายศักดิ์สยาม โดยไม่เกี่ยวข้องกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งก็ถูกซักฟอกในคราวเดียวกัน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!??

เมื่อมาดูเนื้อหาที่นายศักดิ์สยามถูกอภิปรายก็ ถึงบางอ้อ เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และที่ดินของตระกูลชิดชอบ ซึ่งใน 2 เรื่องนี้มันร้อนถึงขั้นกลุ่มดาวฤกษ์ต้องงดออกเสียงเชียวหรือ หรือจริงๆ แล้วอาจมีอะไรในกอไผ่มากกว่าที่เห็นกันแน่?

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวทำนองว่า มีการแก้ “ทีโออาร์” รถไฟฟ้าสายสีส้มเพราะแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว บิ๊กรถไฟฟ้าเลยฟ้อง “รฟม.” กับกรรมการคัดเลือก ทำให้กระทรวงคมนาคมเอาคืนโดยติดเบรกการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ที่จริงแล้วเรื่องกลับตาลปัตร

ต้นตอเกิดจากปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามคำสั่ง ม.44 ซึ่งกลุ่มฝ่ายค้านก็ได้อภิปราย ว่ามีความไม่ชอบมาพากลเยอะ ทั้งเรื่องเก่าสมัยผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ที่ไปจ้าง “บริษัทเอกชนเจ้าหนึ่ง” ดำเนินการโดยไม่ทำตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน และเรื่องใหม่ที่จะขยายสัมปทานให้บริษัทนี้แลกกับการแบกหนี้แทนกทม. กระทั่งโดนสังคมจับตาว่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน

ขณะที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และ “โจ้- ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาค้านเต็มแรงเป็นประเด็นอภิปรายซักฟอก รมว.มหาดไทย อย่างดุเดือดในสภาด้วย

ตามข่าวระบุว่า “คมนาคม” ไม่เห็นด้วยกับเรื่องสายสีเขียวมานานแล้วตั้งแต่สมัย “รมว.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ที่เห็นว่าควรไปทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ตามที่สภาพัฒน์มีความเห็นไว้ และสมัยมีรัฐบาลใหม่ๆ สภาผู้แทนฯ ก็มีมติไม่เห็นชอบให้ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯ

นายศักดิ์สยามรู้ดีว่าคมนาคมในฐานะผู้รับผิดชอบระบบขนส่งทางราง ถ้าเห็นชอบไป ก็จะเดือดร้อนพาตัวเองและรมต.ของภูมิใจไทยจะติดร่างแหไปหมด ยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ก็จะเดือดร้อนหนักไปด้วย อาจถึงขั้นติดคุกติดตะราง

กระทรวงคมนาคมจึงทักท้วงว่าเรื่องนี้มีประเด็นต้องทบทวนให้รอบคอบก่อน ทั้งเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุน และเรื่องค่าโดยสาร ที่แพงไป ซึ่งการทักท้วงนี้ตรงใจรมต.หลายคนในครม.ที่ ไม่อยากเป็น “ตรายาง” รับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ก็เกรงใจมหาดไทยเจ้าของเรื่อง

ประเด็นมันเลยร้อนหนัก ทำให้ความสัมพันธ์ของ “กลุ่มทุนขาใหญ่” ซึ่งแนบแน่นกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เกิดรอยร้าวลึกขึ้น!

ขณะเดียวกันเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกประมูล กระทรวงคมนาคมรู้ดีว่ารถไฟสายนี้ร้อนมาก แข่งขันหนัก แต่ที่หนักใจคือ “การก่อสร้างอุโมงค์สถานีใต้ดิน” ยากมาก ผ่านพื้นที่อ่อนไหวโดยเฉพาะเขตพระราชฐาน เกาะรัตนโกสินทร์ และราชดำเนิน

ถ้าปล่อยเอกชน “ฟันราคา” กันโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพงาน สุดท้ายถ้าเกิดอันตรายและความเสียหายกับประชาชนและทรัพย์สินของชาติ คงรับผิดชอบไม่ไหว

ด้วยเหตุดังกล่าว รฟม.และกรรมการคัดเลือกจึงปรับ ทีโออาร์ให้มีความเป็นสากล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวมในทุกด้าน จากเดิมตัดสินที่ “ผลตอบแทนการเงิน” ที่เอกชนจะแบ่งให้รัฐ เป็นตัดสินด้วย “คะแนนรวมด้านเทคนิคคุณภาพงาน+ผลตอบแทนการเงิน” ในสัดส่วน 30 : 70 คะแนน รวม 100 คะแนน

ที่ดูแปลกๆ คือข่าวที่ออกไป โดยมี “สื่อกลุ่มหนึ่ง” ซึ่งใกล้ชิดมาดามเดียร์เป็นหัวหอก นำเสนอข่าวสาร เหมือนว่าไปแก้ทีโออาร์หลังยื่นซองไปแล้ว ทำให้เอกชน ที่ไม่มีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ใต้ดินเสียเปรียบ

แต่ที่จริงแล้ว การแก้ทีโออาร์เกิดก่อนการยื่นซอง และยังมีการขยายเวลายื่นไปอีก 45 วันเพื่อให้เอกชนทุกรายไปเตรียมข้อเสนอที่ดีที่สุดมาแข่งกัน!!

พูดง่ายๆ งานนี้เค้าแข่งกันที่ “เทคนิควิธีทำงานกับผลตอบแทน” ไม่ได้สนใจว่าเคยทำหรือไม่ ถ้าไม่เคยก็ไปหาพาร์ตเนอร์ หรือผู้รับเหมาช่วงมาเสริมได้

วิธีประมูล “เทคนิคและราคา” เช่นนี้ก็ทำกันมามากมายในโครงการขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าได้งานที่ดีมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม ไม่ใช่เน้นแค่รัฐต้องได้ราคาสูงๆ แต่คุณภาพงานออกมาต่ำ เพราะผู้ชนะสัมปทานก็ย่อมต้องลดต้นทุนงบดำเนินการอยู่แล้ว เพราะจ่ายไปเยอะ

แน่นอนว่า รฟม.อาจถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าทำไมมาแก้ทีโออาร์ แต่ถ้าดูกันจริงๆ ก็ยังห่างไกลเรื่องทุจริต เพราะการเปลี่ยนกติกาเกิดก่อนลงสนามแข่ง และให้เวลาทุกรายไปเตรียมตัวให้ดีก่อนลงแข่งใหม่

ที่น่าสงสัยมากกว่าคือทำไม “ขาใหญ่” ต้องร้อนรนฟ้องร้องจนเป็นคดีใหญ่โต เหมือนกับว่าได้งานสายสีส้มแล้วแต่กำลังจะโดนแย่งไป ทั้งที่จริงยังไม่ได้ลงแข่งกันเลย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าจ้องจะฟันราคาจริงๆ โดยไม่สนคุณภาพ เหมือนที่รัฐเจอปัญหาในโครงการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางและทางอากาศขนาดใหญ่ในระยะหลังที่เน้นตัดสินด้วยผลตอบแทนการเงิน ซึ่งล้วนล่าช้าและมีปัญหาหมด

และแล้วเพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเดินต่อได้ ไม่ต้องมีคดีฟ้องร้อง และขจัดปัญหาร้องเรียนเรื่องการแก้ทีโออาร์ รฟม.เลยล้มประมูลและ เปิดประมูลใหม่

จุดพลิกผันในรถไฟฟ้าสีเขียวกับสีส้มนี้ทำให้ “ขาใหญ่” หงุดหงิดมาก ถึงกับระดมสื่อในสังกัดออกตัวแรงเปิดศึกกับภูมิใจไทยเต็มที่ “เชียร์สีเขียว-อัดสีส้ม” คือแนวทาง แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ถึงกับกระอักเลือด เพราะสีเขียวก็ไม่จบ มีแนวร่วมคัดค้านมากขึ้นเนื่องเพราะราคาค่าโดยสารแพงเกินไป ส่วนสีส้มก็หลุดมือไปเริ่มใหม่..

จนท้ายที่สุดนำมาสู่เหตุการณ์ลงมติ “โนโหวต” นายศักดิ์สยามในฐานะรมว.คมนาคม โดยส.ส.พปชร. กลุ่มดาวฤกษ์ นำโดยมาดามเดียร์ ซึ่งผูกพันกับสื่อกลุ่มนี้อย่างที่รู้กัน งานนี้ “ขาใหญ่” จงใจแสดงพลังให้เห็นว่าไม่พอใจภูมิใจไทยอย่างแรง

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า ทางการเมืองถือเป็นการ หักหน้าหัวหน้าพรรคพปชร. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลผิดใจกันโดยใช่เหตุ ล่าสุด พล.อ.ประวิตรจึงออกมาตำหนิกลุ่มมาดามเดียร์อย่างแรงและให้จัดการลงโทษด้วยที่ฝ่าฝืนมติพรรค

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การที่กลุ่มทุนขาใหญ่มาพัวพันการเมืองแบบนี้ จะทำให้รัฐบาลเกิด รอยร้าวลึกแค่ไหน หากพล.อ.ประวิตร และ นายกฯ ลุงตู่ ไม่ลงมาบริหารจัดการ ต่อไปรัฐบาลจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเกมๆ นี้เป็น “เกมอำมหิต” ที่เอา ผลประโยชน์ประเทศชาติ และชีวิตของรัฐบาลมาเดิมพันก็ว่าได้!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน