กรมชลฯเปิดแผนรับมือ‘น้ำแล้ง-ท่วม’ ชูวิสัยทัศน์เดินหน้าสู่องค์กรอัจฉริยะ – กรมชลประทานมุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจาก ‘นายประพิศ จันทร์มา’ รับตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานอย่างเป็นทางการ สั่งทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามนโยบายรัฐบาล

โดยย้ำว่าตลอดอายุราชการ 30 ปี ไม่ว่าจะนั่งตำแหน่งไหนส่วนตัวพร้อมทำตัวเหมือนน้ำ เพราะน้ำอยู่ตรงไหนก็ได้เพื่อเข้าใจเข้าถึงการพัฒนา

เมื่อนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมชลประทานจะเดินหน้าบริหารจัดการน้ำ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำสู่ความยั่งยืน

ปัญหา ‘น้ำท่วม-น้ำแล้ง’ ที่กรมชลประทานต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำซาก ส่วนตัวเชื่อว่าทุกปัญหามีที่มา การบริหารจัดการน้ำก็เช่นกัน ประเทศไทยมีฤดูกาลที่ชัดเจน โดยฤดูหนาว ระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่พ.ย.-ก.พ.

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนก.พ.ถึงกลางเดือนพ.ค. ระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่มีอากาศร้อนโดยทั่วไป และจะร้อนมากที่สุดในเดือนเม.ย.

หลังจากนั้นเข้าสู่ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.-กลางเดือนต.ค. กินเวลา 5 เดือน

ฤดูกาลที่ชัดเจนของไทยส่งผลให้หน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะกรมชลประทาน ต้องกำหนดแผนบริหารจัดการให้พร้อม

ปี 2564 แม้ภาพรวมน้ำน้อยกว่าปี 2563 กรมชลประทานยืนยันจะบริหารจัดการน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร เพื่ออุตสาหกรรม และน้ำเพื่อสำรองเผื่อฝนทิ้งช่วง 3 เดือนก่อนที่จะมีฝนใหม่ให้เพียงพอ

ประเทศไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,455 ม.ม./ปี มีน้ำ 736,802 ล้านลบ.ม. มีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพื่อเก็บกักน้ำ 76,067 ล้านลบ.ม. ความจุใช้การได้ของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 52,175 ล้านลบ.ม.

พื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวน 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 34.58 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของกรมชลประทาน 27.77 ล้านไร่ และจำนวน 6.81 ล้านไร่ ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น

แต่ละปีในช่วงฤดูฝน ฝนจะตกมากประมาณ 85% ของปริมาณฝนทั้งหมด แหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศในแต่ละปีเก็บกักน้ำได้ประมาณ 6.6% ของฝนทั้งหมด

เมื่อพื้นที่เก็บกักน้ำจึงไม่เพียงพอจำเป็นต้องเร่งดำเนินการขุดลอกตะกอนใต้เขื่อน และเสริมสปิลเวย์ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ

“ผมไม่ชอบทำงานเผชิญเหตุ ชอบวางแผนล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะไทยมีน้ำท่วมและแล้งซ้ำซาก เครื่องไม้เครื่องมือมี เวลาไหนจะเกิดฝนตก น้ำแล้ง เราก็รู้ ฤดูกาลมันชัด”

นายประพิศกล่าวและว่า หลังฤดูฝนจะมีน้ำหลาก กรมชลประทานต้องเตรียมเครื่องมือรับสถานการณ์ฝนตกหนักอาจเกิดน้ำท่วม ส่วนหลังฝนตกเป็นฤดูหนาวและต่อด้วยฤดูแล้ง ต้องบริหารจัดการน้ำ เพื่อน้ำกิน น้ำใช้ ประสานขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชน ให้เข้าใจในสถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

กรมชลประทานต้องเป็นหน่วยงานที่จะมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำ บรรเทาสถานการณ์ที่เกิดจากน้ำทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม เร่งสร้างความมั่นคง เพื่อให้กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะอีก 16 ปี หรือในปี 2580

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2563/64 (พ.ย-เม.ย.) มีน้ำต้นทุน 25,857 ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 18,992 ล้านลบ.ม. สำรองน้ำเผื่อฉุกเฉิน 6,935 ล้านลบ.ม.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา จัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ไปแล้ว 15,292 ล้านลบ.ม. หรือ 81% ของปริมาตรน้ำที่ใช้ตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง

คงเหลือน้ำใช้ประมาณ 3,700 ล้านลบ.ม. หรือ 19% ของแผนฯ

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 37,206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ประมาณ 13,277 ล้านลบ.ม.

มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% อยู่ 17 แห่ง ประกอบด้วย ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงฯ กิ่วคอหมา แควน้อยฯ แม่มอก ห้วยหลวง น้ำอูน จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ป่าสักฯ ทับเสลา ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ ขุนด่านฯ และคลองสียัด

การให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำปี 2563/64 กรมชลประทานมีการเตรียมความพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือในการเตรียมรับภัยแล้งทั่วประเทศ ผ่าน 7 ส่วนบริหารจัดการเครื่องจักรกล ทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา อยุธยา กาญจนบุรี และส่วนกลาง มีจำนวน 5,935 หน่วย

แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 2,140 เครื่อง รถบรรทุก 503 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนงานด้านอื่นๆ อีก 3,292 หน่วย

ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำแล้ว 51 จังหวัด 124 อำเภอ 202 ตำบล 327 หมู่บ้าน โดยจัดรถบรรทุกน้ำเข้าแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,300 เที่ยว ปริมาณน้ำกว่า 9.7 ล้านลิตร

ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทานถูกโจมตีอย่างหนักกับความเค็มสูงกว่ามาตรฐาน จึงวางแผนระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมความเค็มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้สอดคล้องกับน้ำขึ้นน้ำลงของน้ำทะเล

โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมไปถึงประสานการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน

ปีนี้ปัญหาความเค็มหนุนสูงจะมีอีกครั้งช่วง 28 เม.ย.-1 พ.ค.นี้เท่านั้น

ระหว่างแผนบริหารน้ำช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานกำชับสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าไม่ให้สูบน้ำเพื่อสนับสนุนการทำการเกษตร และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาขอความร่วมมืองดทำนาปรังแต่ไม่ได้ห้าม

ทั่วประเทศกรมชลฯ มีแผนสนับสนุนน้ำเพื่อทำนาปรังเพียง 1.9 ล้านไร่ แต่ชาวนาทำเกินแผนถึง 5.38 ล้านไร่ หรือเกินแผน 183% หรือเกินแผน 3.48 ล้านไร่ โดยลุ่มเจ้าพระยา น้ำต้นทุนน้อย กรมชลประทานขอความร่วมมือไม่ให้ทำนาปรัง แต่ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา ทำนาเกินแผนไป 2.79 ล้านไร่

“ที่ผ่านมากรมชลประทานไม่เคยห้ามทำนา แต่เมื่อน้ำมีไม่เพียงพอก็ขอความร่วมมืองดทำนา แต่หากในที่ดินมีแหล่งน้ำส่วนตัวไว้ใช้ก็สามารถเพาะปลูกได้”

นายประพิศกล่าวอีกว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยกรมชลประทานอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการนำน้ำจากแหล่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำเพื่อเข้าพื้นที่เพาะปลูก หรือส่งน้ำผ่านท่อโครงการส่งน้ำสู่ฟาร์ม หรือไร่น

จากระบบเดิมในพื้นที่ชลประทานจะส่งน้ำจากระบบสู่แปลงเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย น้ำไม่ถูกขโมยสูบน้ำระหว่างทาง จนทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มปลายทางไม่มีน้ำใช้ ไม่ต้องใช้ทหารมาถือปืนคุม

ที่ผ่านมาดำเนินการแล้วในจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร และอุบลราชธานี และมีอีกหลายโครงการอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรมชลประทานมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบภายใต้โครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2564 รวมระยะเวลาจ้างงานประมาณ 3-8 เดือน

ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 41,223 คน คือคิดเป็น 43.85% ของแผนการจ้างแรงงาน วงเงิน 861.24 ล้านบาท จากเป้าหมายจ้างงาน 94,000 คน วงเงิน 5,662 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประณีต เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตต่อไป

หากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ติดต่อโครงการชลประทานทุกแห่งหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน