กบง.เคาะแล้ว ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน รอบบิลพ.ค. – มิ.ย.64 บรรเทาผลกระทบโควิด เป็นหลักการเดียวกันกับมติครม.เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

วันที่ 14 พ.ค.64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.2564 ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศให้ได้รับการช่วยเหลือ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. หรือเร็กกูเลเตอร์) เสนอ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับมติครม.เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยให้ครอบคลุมลูกค้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย.2564 วงเงินประมาณ 15.04 ล้านบาท ส่วนลดดังกล่าวจะทำให้เงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้มากกว่าที่ควรได้รับในปี 2564 มีจำนวนลดลง

นอกจากนี้กบง.ยังรับทราบมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เป็นระยะเวลา 2 เดือนเช่นกัน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย.2564 วงเงินประมาณ 8,755 ล้านบาท อีกทั้งยังรับทราบแนวทางของ กกพ. ในการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าตามจริง เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย.2564 โดยให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

“ให้พิจารณาทบทวนเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง โดยพิจารณาจากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี”

ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี (PDP) ฉบับใหม่ โดยให้คำนึงถึงการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค (Peak) ให้กระจายออกไปในช่วงอื่นของวัน เพื่อลดการจัดหา/สร้างโรงไฟฟ้า การวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน