สศช.รับโควิดทุบเศรษฐกิจหนักสุดกว่าทุกวิกฤต เร่งเครื่องเงินกู้ 5 แสนล้าน แบ่งอัดมาตรการจ้างงานเอสเอ็มอี เผยทางรอดปีนี้ หวังพึ่งส่งออก ลงทุนรัฐ บริโภคในประเทศ

วันที่ 27 พ.ค.64 นายดนุชา พิชญนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “Thailand Survivor” ในงานสัมมนา Thailand Survivor…ต้องรอด ในงานก้าวสู่ปี 45 ประชาชาติธุรกิจ ว่า วิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เกิดข้อจำกัดและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเดินได้ลำบาก จากมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจด้วย ดังนั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา

โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2563 อีกทั้งการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 4/2563 ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2564 เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 2.6% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวติดลบ 4.2%

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมมาตรการทั้งการดูแลและเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผ่านการออกมาตรการด้านต่าง ๆ ทั้งการกระตุ้นการบริโภค การลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ซึ่งมีผู้ประกอบการบางส่วนโดยเฉพาะรายย่อยที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านั้น แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกกลุ่ม นั่นคือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ยังไม่ได้รับประโยชน์และยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ โดยยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ก็มีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เพียง 1 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น

“เดิมที่รัฐบาลมองว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะจบได้เร็ว ไม่น่าจะอยู่นาน แต่ปรากฎว่าการระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้รู้ว่าปัญหายังไม่จบง่าย ๆ ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการซอฟท์โลน และแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้มากขึ้น และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เคยกังวลว่าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการในไทยราคาถูกในช่วงวิกฤติได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเข้าถึงสภาพคล่องได้มากขึ้น” นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะยืนอยู่ได้จาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งออก ซึ่งปัจจุบันขยายตัวได้ดีมาก และยังส่งผลดีถึงอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ไดรับประโยชน์การจากฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย 2. การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคภายในประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลยังได้เตรียมเครื่องมือเพื่อรองรับการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไป ด้วยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท ด้านการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ 3 แสนล้านบาท และด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 1.7 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้จะเข้ามาเสริมในเรื่องการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณปี 2565 ต้องรอเวลา เพราะจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค. นี้ และงบประมาณยังมีอยู่จำกัด จึงต้องใช้งบเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามาเสริม รวมถึงใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคเพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศในแต่ละช่วงเวลาให้อยู่ในระดับที่ปกติด้วย

นายดนุชา กล่าวอีกว่า อีกส่วนสำคัญที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ คือ การจัดเตรียมมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานในเอสเอ็มอี โดยเป็นการช่วยปลดเปลื้องภาระในการจ้างงานของผู้ประกอบการ เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานเดิมเอาไว้ได้ ไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำซ้อน ซึ่งมาตรการนี้จะออกมาในช่วงที่เหลือของปี 2564

“ส่วนนี้รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อที่จะใช้สำหรับช่วยเหลือประชาชนหากเกิดการระบาดอีกครั้ง หรือมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังต้องการความช่วยเหลือ จะเป็นอ๊อกซิเจนที่ช่วยให้เอสเอ็มอีมีชีวิตเดินต่อไปได้ แต่การช่วยเหลือจะต้องชัดเจน พุ่งเป้าหมายมากขึ้น โดยได้มีการประสานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยในการทำมาตราการขึ้นมาเพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น”

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ภาคธุรกิจต้องปรับตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เพราะยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่ แต่มีการประเมินว่าในอีก 2 ปีจากนี้การเดินทางระหว่างประเทศจึงจะกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่การเดินทางในประเทศระหว่างนั้นจะกลับมาเติบโตได้มากขึ้นและเดินหน้าไปได้จนเข้าสู่ระดับปกติได้เร็วกว่า โดยสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะรอดได้ คือ วัคซีน ที่จะช่วยตัดวงจรการระบาดออกไป ทำให้สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤตแล้ว จะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะไม่ใช่แค่วิกฤติจากการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถไว้ใจได้ อาทิ ปัญหาดิจิทัลดิสรัปชัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ยังไม่รวมปัญหาในตัวเอง อย่างเรื่องโครงสร้างการผลิตที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ เสถียรภาพเศรษฐกิจแม้จะดี แต่ก็มีความเปราะบางจากผลกระทบของโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นไทยต้องพยายามปรับปรุง หรือทรานฟอร์มประเทศ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อที่จะสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อขจัดข้อจำกัดที่บั่นทอนขีดความสามารถของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

โดยประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการหลังจากพ้นวิกฤติโควิด-19 ประกอบด้วย 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Hight Value-added Economy) 2. การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค (Hight Oopportunity Society) 3. การสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Hight Sustainability) และ 4. การสร้างปัจจัยขับเคลื่อนและพัฒนา (High Leverage Enablers) ทั้งการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และการสร้างภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำ เพราะจะทำให้ไทยอยู่รอดจากนี้แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน